นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลก พบว่า ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัว จากความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกกลางปรับลดลงภายหลังความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและอิหร่านยังคงอยู่ในวงจำกัด และการโจมตีตอบโต้ของทั้ง 2 ฝ่ายมุ่งหวังเพื่อหวังผลเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น
ขณะที่สถานการณ์การสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครนยังคงดำเนินการต่อเนื่อง ล่าสุด สำนักข่าวแห่งชาติของรัสเซียรายงานโรงกลั่น Slavyansk (1 ล้านบาร์เรล/วัน) ในภูมิภาค Krasnodar ของรัสเซียหยุดดำเนินการบางส่วนชั่วคราวหลังถูกโดรนของยูเครนโจมตีอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้รับความเสียหาย ทั้งนี้ต้องจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิดจากการที่สหรัฐฯ อนุมัติวงเงินช่วยเหลือทางการทหารครั้งใหม่แก่ชาติพันธมิตร ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มที่จะยังคงอัตราดอกเบี้ยในระดับที่สูง ซึ่งจะกดดันต่อความต้องการใช้น้ำมัน
ภาพรวมสถานการณ์ราคาน้ำมันโลก (22-28 เม.ย.67) ที่ผ่านมา พบว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบ ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 88.25 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเวสต์ เท็กซัส ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 84.14 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ทั้งนี้ ตลาดกลับมากังวลต่อความไม่สงบในตะวันออกกลางอีกครั้ง รวมถึงความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่อาจะส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันในตลาด หลังประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลงนามอนุมัติอย่างเป็นทางการผ่านร่างกฎหมาย 4 ฉบับ ที่ครอบคลุมถึงการให้เงินช่วยเหลืออิสราเอล ยูเครน ไต้หวันและภูมิภาคอินโดแปซิฟิก รวมทั้งค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 34 ปี เมื่อเทียบกับสกุลเงินเยน โดยได้รับแรงหนุนจากข้อมูลอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในช่วง 12 เดือนจนถึงเดือนมีนาคม ที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 2.7% จาก 2.5% ในเดือน ก.พ. ส่งผลให้ตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมนโยบายเนื่องจาก FED มีเป้าหมายเงินเฟ้ออยู่ที่ ระดับ 2%
สำหรับราคากลางน้ำมันสำเร็จรูปตลาดภูมิภาคเอเชีย ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 105.20 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (10 PPM) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 101.87 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 2.32 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
นายวีรพัฒน์ กล่าวว่า เนื่องจากค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.20 บาท/เหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 37.1687 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ทำให้ต้นทุนน้ำมันเบนซินลดลง 0.31 บาท/ลิตร และต้นทุนน้ำมันดีเซลลดลง 0.41 บาท/ลิตร ทำให้ค่าการตลาดเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของน้ำมันกลุ่มเบนซิน และน้ำมันดีเซล อยู่ที่ระดับ 2.36 บาท/ลิตร ทั้งนี้ ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 5 พ.ค.67 กองทุนฯ มีสินทรัพย์รวม 30,275 ล้านบาท หนี้สินกองทุนฯ 139,461 ล้านบาท ฐานะกองทุนฯ สุทธิติดลบ 109,186 ล้านบาท แบ่งเป็นติดลบจากบัญชีน้ำมัน 61,640 ล้านบาท บัญชี LPG 47,546 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม สนพ. จะติดตามสถานการณ์ราคาพลังงานอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ราคาสะท้อนกับสถานการณ์ปัจจุบันและเป็นธรรมกับทุกภาคส่วน