นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย "ประเมินผลกระทบของผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอม" ว่า มูลค่าการใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมปี 67 อยู่ที่ 60,322.62 ล้านบาท จากปี 66 ที่ 57,885.63 ล้านบาท หรือโต 4.21% ถือเป็นมูลค่าการใช้จ่ายที่สูงสุดนับตั้งแต่ปี 53 หรือที่ได้มีการสำรวจมา 15 ปี เป็นภาพสะท้อนที่ผู้ปกครองมีการใช้วงเงินสูงสุด ตามค่าครองชีพที่แพงขึ้น
จากผลสำรวจพบว่า 46.0% ผู้ปกครอส่วนใหญ่ยังใช้จ่ายเท่าเดิม และ 43.1% ใช้จ่ายมากขึ้น เนื่องจากกราคาสินค้าแพงขึ้น
ส่วนจำนวนสินค้าที่ใช้จ่ายเมื่อเทียบกับปีก่อน ผู้ปกครอง 51.8% บอกว่าซื้อเท่าเดิม ในส่วนของชุดนักเรียน ถุงเท้า และรองเท้า ซึ่งสะท้อนว่ายังมีการระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย
เมื่อสอบถามว่า มีเงินเพียงพอกับค่าใช้จ่ายช่วงเปิดเทอมหรือไม่นั้น ผู้ปกครองส่วนใหญ่ 54.4% ระบุว่ามีเพียงพอ โดยมาจากเงินออม รองลงมาคือเงินเดือน ส่วนอีก 45.6% บอกว่าเงินไม่เพียงพอ โดยส่วนใหญ่เลือกที่จะผ่อนชำระเป็นงวดๆ รองลงมาคือการจำนำทรัพย์สิน
"สะท้อนว่าภาวะเศรษฐกิจยังไม่ได้แย่ แต่ยังไม่คล่องตัว ไม่ฟื้นเต็มที่ โดยความเชื่อมั่นผู้บริโภคตกลงมาเมื่อเดือนที่แล้ว และบรรยากาศช่วงสงกรานต์เศรษฐกิจมีอาการช็อต ซึม ภาคธุรกิจบอกว่ายอดขายอืดๆ เนื่องจากงบประมาณแผ่นดินที่ไม่ได้ออกมา 1 ปี มีผลอย่างเต็มที่ตอนนี้ และงบประมาณที่ออกมาแล้วตอนนี้ รัฐบาลจำเป็นที่จะต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ อัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากบรรยากาศช่วงเปิดเทอมสะท้อนว่า ผู้ปกครองยังระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย" นายธนวรรธน์ กล่าว
นายวาทิตร รักษ์ธรรม ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากการสำรวจกลุ่มผู้ปกครอง ได้สะท้อนสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลปรับปรุงด้านการศึกษาของไทยในปัจจุบัน ดังนี้
- เพิ่มบุคลากรทางการศึกษาโดยเฉพาะคุณครูให้มีจำนวนเหมาะสมในการดูแลนักเรียน
- ปรับการเรียนการสอนโดยเฉพาะวิชาแกน เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ให้น่าสนใจ ใช้การปฏิบัติการควบคู่ทฤษฎี
- สร้างความตระหนักรู้ให้กันเยาวชนเกี่ยวกับสิ่งเสพติดต่างๆ รวมทั้งโรงเรียนควรสอดส่องให้เข้มงวดมากขึ้น
- ลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ทั้งอุปกรณ์การเรียนการสอน ความรู้ ทักษะความคิดต่างๆ
- พัฒนาบุคลากรทางการศึกษาให้มีความรู้เท่าทันโลก และสามารถนำเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ และสามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า หอการค้าไทย ยังได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงวันวิสาขบูชา โดยคาดว่าปี 67 เงินจะสะพัดช่วงวันวิสาขบูชา 3,812.76 ล้านบาท โดยเชื่อว่าในวันนั้นจะมีความคึกคักทางพิธีกรรมทางศาสนา เนื่องจากเป็นวันหยุดกลางสัปดาห์ การลาหยุดเพิ่มอีก 2 วันเกิดขึ้นได้น้อย กิจกรรมที่กลุ่มตัวอย่างเลือกทำมากที่สุด คือการไปเวียนเทียน รองลงมาคือการพักผ่อนอยู่บ้าน
"หอการค้าสังเกตว่า ถ้าเศรษฐกิจปีไหนไม่ค่อยคึกคัก คนจะทำบุญมากขึ้น ซึ่งเศรษฐกิจขณะนี้ยังฟื้นตัวได้ไม่ดี การใช้จ่ายช่วงเปิดเทอม และวันวิสาขบูชา เป็นบรรยากาศสะท้อนว่าเศรษฐกิจยังไม่คึกคัก บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยยังไม่โดดเด่น มีการใช้จ่ายแบบระมัดระวัง และการใช้จ่ายที่มากขึ้นมาจากของที่แพงขึ้น" นายธนวรรธน์ กล่าว