กระทรวงพาณิชย์เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาอนุมัติให้กองทุนเพื่อการปรับตัวรองรับการเปิดเสรีทางการค้า(เอฟทีเอ) เข้าระบบตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ เพื่อให้สามารถใช้งบประมาณได้อย่างเต็มที่หลังมีเอกชนเสนอเรื่องขอใช้กองทุนเป็นจำนวนมาก
"ที่ผ่านมากองทุนเอฟทีเอดำเนินงานไม่เต็มรูปแบบ เป็นลักษณะของการเสนอโครงการ ต้องขออนุมัติเบิกงบประมาณจากภาครัฐ และต้องคืนงบประมาณจากการเหลือใช้ให้กับกระทรวงการคลัง" นางอัญชนา วิทยาธรรมธัช รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่างว
ทั้งนี้ หากจัดตั้งกองทุนเต็มรูปแบบจะทำให้สามารถของบประมาณประจำปี โดยไม่ต้องส่งงบคืนเมื่อใช้ไม่หมด ส่งผลให้สามารถนำงบประมาณมาใช้เต็มเม็ดเต็มหน่วย หรือทำให้เกิดดอกผลเป็นดอกเบี้ย เพื่อใช้ประโยชน์ในปีต่อๆ ไปได้เหมือนกับกองทุนส่งเสริมการส่งออก ที่มีงบประมาณเป็นของตนเอง โดยจะมีคณะกรรมการที่มีทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมกันพิจารณาในการใช้เงินกองทุนให้เกิดประโยชน์มากสุด
รองอธบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องปรับรูปแบบให้อิงตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ เพราะแนวโน้มการใช้กองทุนที่เพิ่มมากขึ้น และมีประสิทธิผล โดยมีโครงการขอใช้กองทุนเพิ่มมากขึ้นทุกปี จากปี 50 มีเพียง 2 โครงการ แต่ในปี 51 มีเพิ่มถึง 7 โครงการ ดังนั้นจำเป็นต้องปรับกองทุนเอฟทีเออยู่ในรูปแบบกองทุนเต็มตัว เพื่อนำมาบริหารใช้ในปีต่อๆไป เพราะต่อไปกองทุนเอฟทีเอจะขยายความช่วยเหลือไปถึงกลุ่มธุรกิจบริการ ซึ่งเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้าด้วย
รองอธบดีกรมสการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีมาขอคำแนะนำในการขอรับการสนับสนุนจากกองทุนเอฟทีเอเพิ่มอีก 4 สินค้า คือ สมุนไพร สิ่งทอ รองเท้า และโคนม โดยอยู่ระหว่างทำเรื่องเสนอของบประมาณในรอบต่อไป ส่วนโครงการที่ได้รับอนุมัติไปแล้ว ทางคณะกรรมการฯจะมีการติดตามประเมินผลการใช้ประโยชน์จากกองทุนหลัง โดยการประเมินรอบต่อไปจะเริ่มในเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้ ซึ่งโครงการที่ได้ดำเนินการไปแล้ว อาทิ โครงการนำร่องการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมปลาน้ำจืด ซึ่งมีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นที่ปรึกษาร่วมกับกรมประมง ได้คัดเลือกผู้ประกอบการ 40 รายที่มีศักยภาพ มาพัฒนาระบบการเลี้ยง
นอกจากนี้ ยังมีโครงการศึกษาเพื่อจัดทำระบบประกันคุณภาพ GMP โรงงานผลิตปลาป่น เพื่อความปลอดภัยของอาหารสัตว์และเพิ่มขีดความปลอดภัยของอาหารสัตว์ ซึ่งมีบริษัท ควอลิตี้แซทเทิลฟายด์ จำกัด เป็นบริษัทที่ปรึกษา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันผลกระทบจากการเปิดเสรี โดยเฉพาะเอฟทีเอไทย-เปรู ซึ่งจะทำให้โรงงานผลิตปลาป่นไทยมีคุณภาพ และช่วยให้สินค้าไทยมีโอกาสเปิดตลาดใหม่ๆ ได้ จากเดิมที่ถูกกดราคา เพราะจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการในประเทศไม่กี่ราย
ทั้งนี้ ทางคณะกรรมการบริหารกองทุน ซึ่งมีนายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานได้อนุมัติโครงการไปแล้ว 9 โครงการ โดยเป็นโครงการสำหรับปีงบประมาณ 2550 จำนวน 2 โครงการ คือ โครงการเผยแพร่ความรู้ด้านมาตรฐานสินค้าและคุ้มครองผู้บริโภค (สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์) 5 ล้านบาท และโครงการศึกษาเพื่อปรับยุทธศาสตร์ของอุตสาหกรรมเครื่องหนังไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนภายใต้กรอบการค้าเสรี อีก 1 ล้านบาท และโครงการตามงบประมาณปี 2551 อีก 7 โครงการ โดยเป็นโครงการเกี่ยวกับสินค้าปลาน้ำจืด ปลาป่น ส้ม ยา โคเนื้อ และปลาน้ำจืด รวมงบขอใช้โครกการประมาณ 40 ล้านบาท
--อินโฟเควสท์ โดย พณฦ/ธนวัฏ โทร.0-2253-5050 ต่อ 325 อีเมล์: tanawat@infoquest.co.th--