นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ช่วยแก้หนี้ให้กับลูกค้าที่เป็นหนี้เสีย รายละไม่เกิน 10,000 บาท ซึ่งปัจจุบันมีปัญหาข้อมูลติดเครดิตบูโร กว่า 1 ล้านราย โดยหากพิจารณาแล้วเสร็จ ให้ดำเนินการได้ทันที
ทั้งนี้ รัฐบาลจะตั้งงบประมาณราว 1 หมื่นล้านบาท มาใช้หนี้ในส่วนนี้ให้ก่อน เพื่อให้ลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวกลับเข้าสู่ระบบอีกครั้ง และชำระหนี้ได้ตามความสามารถ โดยกำหนดกรอบเวลาชำระคืนไม่เกิน 2 ปี
"รัฐบาลยินดีตั้งงบหมื่นล้านบาท มาช่วยคนที่มีหนี้ค้างมานาน ไม่เคลื่อนไหว เพื่อให้ธนาคารได้รับการชำระคืน ไม่ต้องเป็นหนี้เสีย สามารถกลับมาผ่อนใหม่ ภายใต้เงื่อนไขใหม่ รัฐบาลจะใช้งบปลดหนี้ให้ ซึ่งทำได้เลย ขอไปดูก่อนว่าจะใช้งบส่วนไหน แต่รู้ว่ามีเงินมาแน่นอน" รองนายกฯ และรมว.คลัง ระบุ
นายพิชัย กล่าวว่า ส่วนหนี้เสียที่มีมูลค่าหนี้ในระดับ 3-5 หมื่นบาท โดยเฉพาะกลุ่ม SME นั้น ที่ผ่านมาธนาคารได้ตั้งสำรองหนี้สูญ และตัดจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายไว้แล้ว ก็จะมีการตัดขายหนี้ลงมาให้กับบริษัทร่วมทุน Joint Venture Asset Management Company : JVAMC ซึ่งเป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างธนาคารออมสินกับ บริษัท บริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (BAM) หรือ บสก. ซึ่งทั้งหมดจะมีความชัดเจนภายในเดือน พ.ค. และเสร็จสิ้นใน มิ.ย.
"หนี้เสียกลุ่มนี้ ต้องมีระบบเรียกเก็บหนี้รายย่อยที่มีประสิทธิภาพ ต้องหาคนมีประสบการณ์ ในส่วนนี้คงทำงานร่วมกับ BAM ซึ่งบริหารจัดการได้ และเป็นการดำเนินการกึ่ง ๆ กิจการเพื่อสังคม (CSR) บางส่วนได้กำไรบ้าง ขาดทุนบ้าง แต่ก็ต้องทำ เพื่อเป็นการแก้ปัญหา เป็นการอุ้มลูกหนี้ที่ไม่มีทางออก" นายพิชัย กล่าว
ส่วนกรณีความคืบหน้าการฟื้น กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) นั้น ได้มอบให้หน่วยงานไปดูรายละเอียด ที่จะสามารถเรียกความสนใจของนักลงทุน ซึ่งในอดีตมีคนนิยมซื้อมูลค่าถึง 3-4 แสนล้านบาท ถ้ามีการจัด SET50 ใหม่ตลาดหุ้นก็อาจจะกลับมาได้ และช่วยกระตุ้นมูลค่าตลาดที่หายไป 1 ล้านล้านบาทให้กลับมาได้
"คงต้องพิจารณาอายุที่เหมาะสม เพื่อให้คนสนใจ ว่าจะมีอายุกี่ปี พอมีไอเดียแล้ว อะไรทำได้เร็วที่สุดก็ต้องทำ คนที่ดูแล ดูให้รอบคอบ ก็พิจารณาพร้อมเดินหน้า" รองนายกฯ และรมว.คลัง ระบุ