ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ยกคำร้องของ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ที่ขอให้มีคำสั่งให้นางสาวพิรงรอง รามสูต ยุติการปฏิบัติหน้าที่กรรมการ กรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพราะศาลฯ เห็นว่านางสาวพิรงรองไม่ได้มีพฤติกรรมตามที่ถูกร้อง
วันนี้ศาลอาญาฯ นัดฟังคำสั่งคดีที่ ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป กล่าวหาว่านางสาวพิรงรอง ในฐานะกรรมการ กสทช. และคณะอนุกรรมการด้านกิจการโทรทัศน์ ให้สำนักงาน กสทช. ออกหนังสือแจ้งไปยังผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์และวิทยุ 127 แห่งตรวจสอบการแพร่เสียงแพร่ภาพผ่านการให้บริการกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (Internet TV Box) และแอปพลิเคชัน True ID เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากผู้ใช้บริการว่ามีการสอดแทรกเโฆษณา ส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิดว่า ทรู ดิจิทล กรุ๊ป กระทำผิดกฎหมาย จนอาจถูกระงับเนื้อหารายการที่ได้ส่งไปออกอากาศ แสดงถึงความมีอคติและความไม่เป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่
แหล่งข่าวจาก กสทช.ระบุว่า ผลการพิจารณาของศาล ถือเป็นโอกาสดีที่ กรรมการ กสทช.ทั้งหมด ยังคงได้ขับเคลื่อนภารกิจสำคัญ โดยเฉพาะงานด้านโทรทัศน์ และการพัฒนาสื่อคุณภาพให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีต่อไป โดยงานสำคัญที่อยู่ภายใต้การดูแลของนางสาวพิรงรอง ประกอบด้วย
- การจัดทำ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การสนับสนุนการผลิตรายการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ที่รวมถึงการส่งเสริมการผลิตคอนเทนต์พิเศษสำหรับเด็ก คนดูทุกกลุ่ม และผลิตคอนเทนต์สนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์
- การกำหนดทิศทางและก้าวต่อไปของโทรทัศน์ภาคพื้นดินหรือทีวีดิจิทัล ที่จะสิ้นสุดใบอนุญาต มีการบ้านที่ต้องพิจารณาต่อไปหลายข้อว่ามีการประมูลต่อไปหรือจะกำหนดอนาคตทีวีดิจิทัล กสทช. กำลังศึกษาและสังเคราะห์ฉากทัศน์ในอนาคตของอุตสาหกรรมโทรทัศน์ ทางเลือกในเชิงนโยบายในการให้อนุญาตและการกำกับดูแล เพื่อเสนอทางเลือกรองรับการสิ้นสุดใบอนุญาต
- การศึกษาและกำหนดแนวทางรองรับการผลักดันต้นแบบแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งระดับชาติเพื่อให้ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์สามารถแข่งขันได้ในยุคดิจิทัล National Steaming Platform ที่อยู่ระหว่างการวางรูปแบบ และทางเลือก ในการเข้าถึงกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล การประมาณการต้นทุนของแต่ละทางเลือก
- การกำหนดกระบวนการ (ทดลอง) และให้อนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ชุมชนสำหรับประเทศไทย (Roadmap ทีวีชุมชนต้นแบบ) รวมทั้งมีการจัดทำมาตรการส่งเสริมผู้ให้บริการทีวีชุมชน
- การทดลองทดสอบการนำเทคโนโลยี UHD (4K) ไปใช้งานในกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินและกิจการทางเลือกอื่น และการพัฒนาหลักเกณฑ์และกลไกในการกำกับดูแลกิจการโทรทัศน์ไทยให้สอดคล้องกับระบบนิเวศของอุตสาหกรรมและการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป โดยลดการกำกับดูแลโทรทัศน์แบบดั้งเดิม เพิ่มการกำกับแพลตฟอร์ม
- การกำหนดขอบเขตการโฆษณาให้ชัดเจนและพัฒนากลไกการกำกับโฆษณา (Self-regulation) การบังคับใช้ประกาศออนไลน์แพลตฟอร์ม/รวมกลุ่ม/ส่งเสริมบริการชุมชน/ส่งเสริมผลิตรายการ
- การปรับปรุงประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (Must Carry)
- การจัดให้มีการจดแจ้งขององค์กรวิชาชีพที่มีการรวมกลุ่มเพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลกันเองภายใต้มาตรฐานทางจริยธรรมของสื่อ (ประกาศรวมกลุ่ม)
- งานส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในกิจการฯ โดยเฉพาะในบทบาทผู้ประกาศข่าว ผู้รายงานข่าว ผู้ดำเนินรายการ อย่างเป็นมืออาชีพ มีความเป็นกลาง และมีจิตสำนึกรับผิดชอบ โดยสร้างการมีส่วนร่วมจากผู้ประกอบวิชาชีพและเครือข่ายผู้ชมผู้ฟัง
- การดำเนินมาตรการตามแผน USO การส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ประสานความร่วมมือกับผู้ให้บริการโทรคมนาคม ทำศูนย์ USO กับ กสทช. และ มูลนิธิต่างๆ เช่น มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี
- ขับเคลื่อนการสร้างสรรค์และการใช้สื่อเพื่อการยอมรับความหลากหลายและเข้าใจบริบททางสังคมและการอยู่ร่วมกัน (Diversity and Inclusion) และส่งเสริมคนพิการและผู้ด้อยโอกาสให้สามารถเข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ได้เพิ่มมากขึ้น
- การสำรวจระดับการเข้าถึง รับรู้ และใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสาร อย่างรู้เท่าทันของประชาชน และเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไปของคนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส รวมถึงผู้ที่มีความหลากหลายในด้านสังคมและวัฒนธรรมด้วย ไม่ใช่เพียงทางด้านกายภาพ