นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC-CI) เดือนเม.ย. 67 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจและหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 23-30 เม.ย. 67 โดยดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 55.3 เพิ่มขึ้นจากระดับ 55.2 ในเดือนมี.ค. 67
โดยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในแต่ละภูมิภาค เป็นดังนี้
- กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดัชนีฯ อยู่ที่ 55.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนมี.ค. ซึ่งอยู่ที่ 54.8
- ภาคกลาง ดัชนีฯ อยู่ที่ 55.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนมี.ค. ซึ่งอยู่ที่ 55.0
- ภาคตะวันออก ดัชนีฯ อยู่ที่ 57.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนมี.ค. ซึ่งอยู่ที่ 57.7
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 53.9 เพิ่มขึ้นจากเดือนมี.ค. ซึ่งอยู่ที่ 53.8
- ภาคเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 55.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนมี.ค. ซึ่งอยู่ที่ 55.3
- ภาคใต้ ดัชนีฯ อยู่ที่ 54.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนมี.ค. ซึ่งอยู่ที่ 54.4
ปัจจัยบวก ได้แก่
1. นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวนมากขึ้น หลังจากการเปิดประเทศ และกิจกรรมเชิญชวนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น
2. ภาคท่องเที่ยวและบริการภายในประเทศปรับตัวดีขึ้น ผลมาจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในหลายพื้นที่
3. ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น หรือทรงตัว ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น และมีกำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น
4. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์จากภาครัฐ เพื่อเป็นการสนับสนุนการมีที่อยู่อาศัยของประชาชน กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง
5. ความหวังของประชาชนจากการมีสัญญาณของการขึ้นค่าจ้างงาน และเริ่มจะมีในการจับจ่ายใช้สอยที่กลับมามากขึ้น แต่ยังคงมีการระวังการเลือกซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น
6. ภาคอุตสาหกรรมเริ่มที่จะฟื้นตัว เนื่องจากมีความต้องการของสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งในและต่างประเทศ อาทิ ยางพาราในกลุ่มผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์ยางแปรรูป และผลิตภัณฑ์ไม้
ปัจจัยลบ ได้แก่
1. คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ต่อปี และเห็นว่าเศรษฐกิจไทยปี 67 มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นจากปีก่อน
2. สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 67 คาดว่าจะขยายตัวที่ 2.4%
3. สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่มากขึ้น จนส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมกลางแจ้งในบางพื้นที่ และกระทบต่อสุขภาพของประชาชนที่สูดหายใจเข้าไป
4. การส่งออกของไทยเดือน มี.ค. 67 หดตัว 10.9% มูลค่าอยู่ที่ 24,960.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้าเพิ่มขึ้น 5.63% มีมูลค่าอยู่ที่ 26,123.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 1,163.27 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
5. SET Index เดือน เม.ย. 67 ปรับตัวลดลง 9.99 จุด จาก 1,377.94 ณ สิ้นเดือน มี.ค. 67 เป็น 1,367.95 ณ สิ้นเดือน เม.ย. 67
6. ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับ 35.954 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน มี.ค. 67 เป็น 36.789 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน เม.ย. 67 สะท้อนว่ามีการไหลออกสุทธิของเงินตราต่างประเทศ
7. ความกังวลจากผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งต่อผลผลิตภาคเกษตร ซึ่งสภาวะเอลนีโญ ทำให้ปริมาณน้าฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติ และมีอุณหภูมิสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตร
8. ความกังวลในเรื่องของต้นทุนทางการผลิต-การเกษตรของผู้ประกอบการที่อาจจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
9. ความกังวลจากความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงทำให้มีการปรับราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
10. ราคาน้ำมันขายปลีกแก๊สโซฮอล ออกเทน 91 (E10) และแก๊สโซฮอล ออกเทน 95 ในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 1.6 และ 1.2 บาทต่อลิตร อยู่ที่ระดับ 39.28 และ 40.35 บาทต่อลิตร และราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 1 บาท ณ สิ้นเดือน เม.ย. 67
ทั้งนี้ ภาคธุรกิจเสนอแนวทางดำเนินการในการแก้ไขปัญหา ดังนี้
- แนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องของการบริหารจัดการน้ำให้มีใช้เพียงพอกับภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคครัวเรือน
- หาแนวทางการแก้ไขหรือมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ หากมีการขึ้นอัตราค่าแรงขั้นค่าขึ้นตามประกาศรัฐบาล
- มาตรการส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งแนวทางการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวให้มีการจับจ่ายซื้อของเพื่อเพิ่มกำลังซื้อในพื้นที่
- การดูแล และรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และการค้าการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากการสำรวจความเห็นของผู้ประกอบการ พบว่ายังมีความกังวลต่อนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ เนื่องจากมองว่า การปรับขึ้นค่าแรงควรขึ้นตามศักยภาพของแต่ละจังหวัด และแต่ละธุรกิจมากกว่า โดยเห็นว่าไม่ควรจะขึ้นเกิน 370 บาท หรือบางธุรกิจอาจมองว่าต้องต่ำกว่านี้
ทั้งนี้ ควรให้อนุกรรมการระดับจังหวัดทบทวนตัวเลขของจังหวัดตัวเองว่าควรเป็นเท่าไร ดังนั้นในท้ายสุดแล้ว อาจจะเห็นค่าแรงไม่เท่ากันทั้งประเทศ
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเยียวยา เพราะการปรับขึ้นค่าแรง จะเป็นภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการโดยตรง ซึ่งหากผู้ประกอบการไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนในส่วนนี้ได้ ก็จะเกิดการปลดคนงาน และหันไปใช้เครื่องจักรมาทดแทน หรือการใช้ AI เข้ามาแทนที่แรงงานคนมากขึ้น
"แต่หากรัฐบาลมีมาตรการที่ชัดเจน ว่าจะเยียวยาอะไรได้บ้าง ซึ่งเป็นการทดแทนหรือชดเชยกับการที่ผู้ประกอบการต้องรับภาระขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนี้ ก็อาจจะสามารถชดเชยกันได้...เมื่อค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นเร็ว ก็จะเห็น AI เข้ามาแทนที่คนเร็วขึ้นเช่นกัน การปรับขึ้นค่าแรง ควรมีงานวิจัยถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นว่าเป็นอย่างไร หรือได้ผลในเชิงบวกอย่างไร ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดความกลัว หรือไม่ให้เกิดข้อถกเถียงกัน" นายธนวรรธน์ กล่าว