คณะทำงานฯ ย้ายท่าเรือคลองเตย นัดถกครั้งแรก พ.ค.นี้ คาดเห็นความชัดเจนใน 6 เดือน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 16, 2024 18:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม กล่าวถึงความคืบหน้าการศึกษาความเหมาะสมและเป็นไปได้ของการย้ายท่าเรือกรุงเทพออกจากคลองเตยว่าขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนแต่งตั้งคณะทำงานฯ โดยมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คมนาคม เป็นประธาน นอกจากนี้จะมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมไปถึง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นต้น เพื่อดำเนินการศึกษาตามข้อสั่งการ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และคาดว่า คณะทำงานฯจะมีการประชุมครั้งแรก ภายในเดือนพ.ค.นี้

ที่ผ่านมา การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) มีการประชุมนอกรอบไปแล้ว 2 ครั้ง หลักการคือจะนำผลการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่บริเวณท่าเรือกรุงเทพเดิม มาศึกษาทบทวนแผนเดิมในทุกมิติ ทั้งท่าเรือขนส่งสินค้า การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ การดูแลเรื่องชุมชมและที่อยู่อาศัยแบบใหม่ ซึ่งแผนเดิมมีการศึกษาเป็น Smart Community จะนำมาพิจารณาทั้งหมด ซึ่งจะใช้เวลาศึกษาทบทวนประมาณ 6 เดือน จากนั้นจะเร่งผลักดันให้เสร็จ

เมื่อทบทวนแผนแล้วจะมีความชัดเจนของผังท่าเรือกรุงเทพ ซึ่งจะรับฟังความคิดเห็นจากทุกส่วน รวมถึงประชาชนที่จะมีการโยกย้าย ประมาณ 13,000 ครัวเรือน ดังนั้นจึงมีกระทรวง พม.อยู่ในคณะทำงานชุดนี้ ส่วนทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) ก็มีความเห็นทั้งการดูแลตลาดคลองเตยและอยากได้สวนสาธารณะ รวมไปถึงอยากให้ย้ายคลังน้ำมันบางจากออกจากพื้นที่เป็นต้น

"ผลการศึกษาที่มีเดิม นำมาทบทวนไม่สูญเปล่า นำมาปรับปรุงให้ดี เป้าหมายรัฐบาล ใช้พื้นที่ให้เกิดเประโยชน์สูงสุด สร้างความมั่งคั่ง สร้างเศรษฐกิจ ใหม่ ในพื้นที่ท่าเรือคลองเตย และจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในรัฐบาลชุดนี้แน่นอน"นางมนพร กล่าว

ส่วนจะย้ายท่าเรือไปทั้งหมดหรือไม่ รมช.คมนาคม กล่าวว่า ต้องรอดูการศึกษาออกมาก่อน หลักการไม่น่าจะปิดบริการท่าเรือ แต่จะเป็นการจัดการพื้นที่ มีท่าเรือท่องเที่ยว บริการผู้โดยสาร ขณะท่าเรือขนส่งสินค้า จะคงมีอยู่ แต่เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ จะต้องเป็นไฟฟ้า เพื่อลดปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศ หรือหากจะย้ายท่าเรือบางส่วนออกไปก็จะแบ่งเป็นเฟส และมีระยะเวลาดำเนินการที่ชัดเจน

ทั้งนี้ นายกฯ มีนโยบายเรื่องการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ โดยให้ทำผังเมืองการใช้พื้นที่ใหม่ โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่ ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้เกิดมูลค่าเพิ่ม เป็น New Port City นอกจากนี้ ยังคงเดินหน้า พัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและโครงการทางพิเศษสายบางนา - อาจณรงค์ (S1) เพราะจะเป็นส่วนช่วยลดค่าใช้จ่ายและระยะทางในการเดินทาง เชื่อมกับท่าเรือ โดยหลักการจะเป็นการลงทุนร่วมกัน ระหว่างกทท.และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)

ด้านนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท.กล่าวว่า พื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ มีประมาณ 2,353 ไร่ รัฐบาลต้องการให้การใช้พื้นที่ในเมืองมีความคุ้มค่ามากขึ้น กทท.พร้อมทำงานร่วมมือกับคณะกรรมการฯในการพัฒนาพื้นที่ตามนโยบายนายกฯเพื่อ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งท่าเรือกรุงเทพในปัจจุบัน มีพื้นที่ฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก ก่อนหน้านี้มีการศึกษาพัฒนา เป็นท่าเรือสีเขียว (Greem Port) ภายใต้แนวคิดโครงการ SMART PORT ยกระดับสู่ศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์แบบครบวงจร

สำหรับการย้ายตามนโยบาย นายกฯ นั้น จะเป็นอย่างไรคณะทำงานที่มีรมว.คมนาคมเป็นประธานนั้น จะศึกษาก่อนว่าจะมีการย้ายแบบไหน อาจจะขยับภายในพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพแต่อาจจะปรับลดขนาด และปรับเพิ่มการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพประเด็น เน้นผังเมือง ให้การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ให้มากขึ้นและเพิ่มมูลค่าของพื้นที่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ