กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เผยการยื่นจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ในเดือน เม.ย.67 มีจำนวน 6,530 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 489 ราย หรือ 8.09% ขณะที่มีมูลค่าทุนจดทะเบียน 27,271.87 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,373.99 ล้านบาท หรือ 30.50%
"เป็นสัญญาณบวกสะท้อนให้เห็นว่าไตรมาส 2 ของปีนี้ ตัวเลขการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่จะมีจำนวนสูงกว่าในปีที่ผ่านมา ที่สำคัญจำนวนจัดตั้งธุรกิจใหม่ในเดือนเมษายน 2567 ยังเป็นจำนวนสูงที่สุดของเดือนเมษายนของทุกๆ ปี ตั้งแต่กรมฯ เปิดให้บริการจดทะเบียนธุรกิจมา 101 ปี" นางอรมน กล่าว
โดยธุรกิจที่มีการจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 565 ราย ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 455 ราย และ ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 329 ราย คิดเป็นสัดส่วน 8.66%, 6.97% และ 5.04% ของจำนวนการจัดตั้งธุรกิจใหม่ในเดือน เม.ย.67 ตามลำดับ
สำหรับธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตที่น่าสนใจต้องยกให้กับธุรกิจด้านความบันเทิงใน 2 กลุ่มธุรกิจ คือ
- ธุรกิจเกี่ยวกับกิจกรรมของบริษัทโฆษณา เช่น การให้บริการด้านการออกแบบสร้างสรรค์การผลิตสิ่งต่างๆ ที่ใช้ในการโฆษณา การวางแผนและการซื้อสื่อโฆษณาในเดือน เม.ย.67 มีการจัดตั้งธุรกิจใหม่จำนวน 106 ราย และมีแนวโน้มเติบโตของการจัดตั้งธุรกิจที่ 32.50% เพิ่มขึ้น 26 ราย จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครจำนวน 57 ราย นนทบุรีจำนวน 10 ราย และสมุทรปราการจำนวน 7 ราย คิดเป็น 53.77%, 9.43% และ 6.60% ของจำนวนการจัดตั้งธุรกิจใหม่เดือน เม.ย.67 ตามลำดับ โดยธุรกิจที่จัดตั้งใหม่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) 100% แสดงให้เห็นถึงธุรกิจขนาดย่อยสามารถการเข้าสู่อุตสาหกรรมโฆษณาได้มากยิ่งขึ้น โดยธุรกิจโฆษณามีแนวโน้มเติบโตไปในทิศทางบวก การเติบโตของสื่อดิจิทัลที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ธุรกิจเกิดการแข่งขันกันสูง สะท้อนถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่กลับมาจับจ่ายใช้สอย ธุรกิจจึงต้องใช้โฆษณาเข้ามาช่วยดึงดูด สร้างการรับรู้ให้แก่ลูกค้าหันมาสนใจสินค้าหรือบริการ
- ธุรกิจผลิตภาพยนตร์ยังเป็นอีกหนึ่งธุรกิจดาวเด่นที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดเป็นที่น่าสนใจและสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 67 มีธุรกิจผลิตภาพยนตร์ที่จดทะเบียนนิติบุคคลจำนวน 56 ราย เพิ่มขึ้น 12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และทุนจดทะเบียน 195.18 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 146.44% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และในปี 66 มีจำนวน 137 ราย ทุนจดทะเบียน 258 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 65 ถึง 20% ทั้งนี้ ในปี 65 มีรายได้รวมอยู่ที่ 12,895.15 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 64 และมีแนวโน้มที่จะมีอัตราเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีปัจจัยจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมาช่วยสนับสนุน
แต่ที่สำคัญเป็นการปรับตัวของธุรกิจในอุตสาหกรรมหนังไทยให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคและบริบทของสังคมไทยที่มีการเปิดกว้างในความหลากหลายทางเพศมากขึ้น โดยพระเอกที่มาช่วยพัฒนาวงการนี้คือ ซีรีส์วาย เป็นคอนเทนต์ที่สื่อถึงความสัมพันธ์ที่ไม่ได้จำกัดเพศ เปิดกว้างในการนำเสนอความรักในรูปแบบต่างๆ ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ซีรีส์วายสามารถสร้างมูลค่าในธุรกิจผลิตภาพยนตร์ให้กลับมาสร้างกำไรได้อย่างมาก ไม่เพียงเท่านั้นยังสร้างเม็ดเงินขยายไปสู่ธุรกิจอื่นๆ ได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโฆษณา การสร้างมูลค่าจากตัวนักแสดงให้ไปเป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิด ธุรกิจจัดกิจกรรม (Event) และธุรกิจท่องเที่ยว ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้ผลิตซีรีส์วายกว่า 177 เรื่อง สามารถสร้างกระแสความนิยมเรื่อยมาและขยายกลุ่มลูกค้าในวงกว้างจนสามารถส่งออกไปขายยังตลาดต่างประเทศได้
การจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการเดือน เม.ย.67 มีจำนวน 810 ราย ลดลง 126 ราย หรือ 13.46% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน และลดลงจากเดือน มี.ค.67 จำนวน 101 ราย หรือ 11.09% มูลค่าทุนจดทะเบียนเลิก 5,096.83 ล้านบาท ลดลง 80.37 ล้านบาท หรือ 1.55% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน และลดลงจากเดือน มี.ค.67 จำนวน 485.45 ล้านบาท หรือ 8.70%
ธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการ 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 88 ราย ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 44 ราย และ ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 29 ราย คิดเป็นสัดส่วน 10.87%, 5.43% และ 3.58% ของจำนวนการเลิกประกอบกิจการเดือน เม.ย.67 ตามลำดับ
ในเดือน เม.ย.67 มีการอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 75 ราย เพิ่มขึ้น 5 ราย หรือ 7% จากเดือน มี.ค.67 โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวจำนวน 16 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) จำนวน 59 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 19,056 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9,692 ล้านบาท หรือ 104% จากเดือน มี.ค.67 มีนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 3 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น จำนวน 23 ราย เงินลงทุน 15,048 ล้านบาท สหรัฐอเมริกา จำนวน 12 ราย เงินลงทุน 100 ล้านบาท และสิงคโปร์ จำนวน 10 ราย เงินลงทุน 1,205 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี ช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยตาม พ.ร.บ.ฯ จำนวน 253 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 36 ราย หรือ 17% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เกิดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 54,958 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16,256 ล้านบาท หรือ 42% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน