นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ชี้ผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนรอบใหม่จะเป็นทั้งความเสี่ยงและโอกาสต่อไทยและภูมิภาคอาเซียน โดยบางธุรกิจอุตสาหกรรมอาจกระทบรุนแรงถึงขั้นปิดกิจการได้หรือบางธุรกิจอุตสาหกรรมจะเข้าสู่การหดตัวและขาลงอย่างชัดเจน อีกด้านเกิดโอกาสต่อไทยและภูมิภาคอาเซียนในการเปิดรับการลงทุนย้ายฐานการผลิตเลี่ยงภาษีนำเข้าสหรัฐฯ
พลวัตของผลกระทบทั้งลบและบวกยังไม่ชัดเจน ต้องรอดูว่าจีนจะมีมาตรการตอบโต้ทางเศรษฐกิจและการค้าอย่างไร ที่ผ่านมาจีนใช้วิธีการอุดหนุนเพื่อให้ภาคการผลิตมีต้นทุนต่ำและบริหารจัดการค่าเงินหยวนให้อ่อนค่ากว่าปัจจัยพื้นฐานมากๆ เพื่อสนับสนุนการส่งออกและดึงให้เศรษฐกิจภายในพ้นจากภาวะเงินฝืดและดูดซับการลงทุนและกำลังการผลิตส่วนเกินจำนวนมาก
อีกความเคลื่อนไหวหนึ่งที่ต้องประเมิน จะเกิดการตอบโต้ด้วยการขึ้นกำแพงภาษีหรือการใช้มาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers) เพิ่มเติมระหว่างจีนกับอียู และอียูกับสหรัฐฯ หรือไม่ หากเกิดภาวะดังกล่าวเพิ่มเติมเข้ามาอีก จะทำให้ระบบการค้าเสรีของโลกภายใต้กรอบข้อตกลงขององค์การการค้าโลกและทุนนิยมโลกาภิวัตน์เปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนเดิมมากยิ่งขึ้น
การปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน 25-100% ของสหรัฐฯ นั้นจะเกิดขึ้นใน 3 เดือนข้างหน้า หากพิจารณารายการสินค้าที่ถูกตั้งกำแพงภาษีแล้วจะเห็นได้ไม่ถึง 6% ของรายการนำเข้าสินค้าทั้งหมดที่สหรัฐฯ นำเข้าจากจีน การขึ้นกำแพงภาษีจึงไม่มีผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ แต่การปรับเพิ่มภาษีนี้มุ่งเป้าไปยังอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ของจีน เป็นการดำเนินการมาตรกีดกันการค้าที่แตกต่างจากสมัยรัฐบาลโดนัล ทรัมป์ มีผลกระทบเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ใหม่ของจีน ไม่ใช่ผลกระทบวงกว้างโดยทั่วไป เป็นการดำเนินการมาตรการกีดกันการค้าอย่างมีกลยุทธ เป็น Strategic Trade Policy
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมและสินค้าที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ ได้แก่ สินค้าที่อัตราการเก็บภาษีสูงและสัดส่วนการนำเข้าจากจีนสูง สินค้าที่เป็นปัจจัยพื้นฐานของการผลิตในอุตสาหกรรมหลากหลาย อย่างสินค้า Lithium-ion batteries สหรัฐฯ นำเข้าจากจีนสูงถึง 70% ของนำเข้าทั้งหมดสินค้าประเภทนี้ของสหรัฐฯ มีการขึ้นอัตราภาษีจาก 10.9% เป็น 28.4% Personal Protective Equipment (PPE) สหรัฐฯ นำเข้าจากจีนมากถึง 67% ของมูลค่านำเข้าทั้งหมด ชิ้นส่วนแบตเตอร์รี่ สหรัฐฯ นำเข้าจากจีนมากถึง 24-25% มีการปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าจาก 0-7.9% เป็น 25-33% การตั้งกำแพงภาษีสินค้าเหล่านี้จะทำให้มีการนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นๆ เพิ่มขึ้นทดแทน
การที่ไทยและอาเซียนจะได้ประโยชน์จากการนำเข้าทดแทนหรือไม่อยู่ที่สินค้าของเรามีคุณภาพ ราคาเหมาะสมหรือแข่งขันได้หรือไม่ในตลาดสหรัฐและตลาดโลก แต่ในอีกด้านหนึ่ง สินค้าเหล่านี้จะถูกทุ่มตลาดกดราคาให้ต่ำมากอาจกระทบต่อภาคผลิตไทยที่แข่งขันไม่ได้ ส่วนรถยนต์อีวีที่มีการขึ้นอัตราภาษีสูงอย่างมากจาก 27% เป็น 102.5% นั้นจะไม่ส่งผลอย่างมีนัยยสำคัญต่อตลาดและอุตสาหกรรมการผลิต EV ในไทยและอาเซียนมากนัก เพราะสหรัฐฯ นำเข้าจากจีนประมาณ 2% การขึ้นภาษีนำเข้าในส่วนนี้จึงไม่ส่งกระทบต่อเนื่องมายังไทยและอาเซียนอย่างมีนัยยสำคัญ แต่จะทำให้รถ EV ที่ส่งออกไปจากจีนไม่สามารถขายได้ เพราะโดนเก็บภาษีมากกว่า 100% ถือเป็นการเก็บภาษีที่มีลักษณะเป็นการลงโทษ (Punitive Tarriff) และขายในตลาดสหรัฐฯ (Prohibitive Tarriff) ไม่ได้
การปรับขึ้นอัตราภาษีสินค้านำเข้าบางตัวจากจีนจะทำให้สหรัฐฯ หันมาใช้จากการผลิตในประเทศมากขึ้น นำเข้าจากเกาหลีใต้ ญี่ปุ่นและอาเซียนมากขึ้น อีกด้านหนึ่งผู้ประกอบการในการผลิตสินค้าบางประเภทอาจย้ายฐานผลิตมายังไทยและอาเซียนมากขึ้น ทว่าอาจหนีไม่พ้นผลกระทบจากสงครามการค้าเพราะอาจต้องเผชิญกับมาตรการ Anti-Circumvention (มาตรการตอบโต้การค้าไม่เป็นธรรมเพิ่มเติม) เหมือนธุรกิจผลิตหรือส่งออก Solar Cells จากไทยหรืออาเซียนเจอตอบโต้ผ่านมาตรการ Anti-Circumvention เนื่องจากมีการย้ายมาผลิต หรือประกอบบางส่วน หรือ ดัดแปลงบางส่วน หรือส่งออกผ่านประเทศตัวกลางเพื่อเลี่ยงภาษี
อุตสาหกรรมรถ EV อุตสาหกรรมก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ ในไทยอาจได้รับผลทางบวกจากการปรับขึ้นอัตราภาษีเหล็กและอลูมิเนียมมากกว่า เพราะอุตสหกรรมรถ EV อุตสาหกรรมก่อสร้าง จะมีต้นทุนเหล็กถูกลงจากการทุ่มตลาดของจีนมายังไทยและอาเซียน ในอีกด้านหนึ่งสถานการณ์อุตสาหกรรมผลิตเหล็กของไทยซึ่งวิกฤตอยู่แล้วจะทรุดหนักกว่าเดิม หลายแห่งอาจต้องปิดกิจการไปทำอย่างอื่นแทน ส่วนอุตสาหกรรมอลูมิเนียมของไทยได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน เมื่อปีที่แล้วไทยมีการนำเข้าเหล็กจากจีนเพิ่มขึ้น 22-23% ประมาณ 3.49 ล้านตัน ผู้ประกอบการเหล็กในประเทศไม่สามารถแข่งขันสินค้าเหล็กจากจีนได้เลย การใช้มาตรการปกป้องอุตสาหกรรมภายในโดยห้ามตั้งโรงงานเหล็กเพิ่มจึงไม่ใช่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน แต่ควรทำอย่างไรที่จะสามารถยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเหล็กภายในให้ดีขึ้นด้วยการลดต้นทุนการผลิตและการพัฒนาคุณภาพสินค้า การทุ่มตลาดของจีนจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องรุนแรงเพราะจีนมีกำลังการผลิตส่วนเกินจำนวนมาก เศรษฐกิจชะลอและจะเจอผลกระทบจากสงครามการค้ารอบใหม่ ไทยควรมีมาตรการต่อต้านการทุ่มตลาดเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในหรือไม่ รัฐบาลและภาคเอกชนควรหารือเพื่อจะได้กำหนดมาตรการที่เหมาะสมเพื่อประโยชน์โดยรวมของเศรษฐกิจไทย
เบื้องหลังการใช้มาตรา 301 Special 301 Super 301 คือ มาตรการตอบโต้กับประเทศที่สหรัฐฯ มองว่าทำการค้าอย่างไม่เป็นธรรม (Unfair Trade Practices) อย่างกรณีของจีน สหรัฐฯ มองว่าจีนใช้นโยบายเงินหยวนอ่อนค่าและการอุดหนุนการผลิตเพื่อสามารถทุ่มตลาดได้ เอาเปรียบผู้ประกอบการในสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังต้องการให้ต่างประเทศเปิดตลาดของตนให้แก่สินค้าส่งออกของสหรัฐฯ (Opening foreign market) ต้องการให้ต่างประเทศยินยอมให้สิทธิประโยชน์ทางการค้าต่อสหรัฐฯ โดยที่สหรัฐฯ ไม่ต้องให้สิทธิประโยชน์อะไรเป็นการตอบแทน (Unrequited concessions) โดยสหรัฐฯ มองว่าประเทศตัวเองได้ให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ให้กับประเทศต่างๆ มามากพอแล้ว เมื่อหลายประเทศมีระดับการพัฒนาเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นแล้วก็ควรมีการค้าที่มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม
เรื่องนี้ศาสตราจารย์ทางด้านเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเมินว่า Super 301 คือ มาตรการพลการในเชิงรุก (Aggressive Unilateralism) และสหรัฐฯ รู้สึกถึงการค้าอย่างไม่เป็นธรรมของประเทศอุตสาหกรรมใหม่และประเทศจีน ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตและแรงงานในสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบ และไม่สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก
การที่รัฐบาลสามารถบริหารประเทศได้ตามวาระ 4 ปีและความมีเสถียรภาพทางการเมืองจะช่วยให้ไทยรับมือผลกระทบสงครามการค้าจีนและตะวันตกได้ดีขึ้น การดำเนินนโยบายต่างๆ จะมีความต่อเนื่อง ไม่เปลี่ยนกลับไปกลับมา การผลักดันให้ประเทศเป็นศูนย์กลาง 8 ด้านตามนโยบาย IGNITE THAILAND ในบางด้านอาจทำได้ง่ายขึ้นเร็วขึ้น หากเราเตรียมพร้อมรับมือต่อความท้าทายจากผลกระทบสงครามการค้ารอบใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และบางด้านอาจจะเผชิญอุปสรรคมากขึ้น การประเมินสถานการณ์นโยบายปกป้องทางการค้าแนวใหม่ให้ดีและมีนโยบายภายในที่เหมาะสมจะทำให้อุตสาหกรรมเป้าหมายเดินหน้าต่อไปได้ บางอุตสาหกรรมต้องมีการลงทุนในทักษะแรงงานอย่างจริงจัง ยกเครื่องระบบการศึกษา มีการลงทุนทางด้านการวิจัยแปรรูปสร้างมูลค่า ลงทุนและพัฒนานวัตกรรมอย่างเป็นระบบ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานตามเป้าหมาย ลำดับความสำคัญในการลงทุนตามความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบและความสามารถในการแข่งขัน พร้อมมีแผนดำเนินการอย่างชัดเจน ความต่อเนื่องของการดำเนินนโยบายจากเสถียรภาพทางการเมืองเป็นปัจจัยชี้ขาดความสำเร็จ
แม้นโยบายการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย (Target Industries) เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นศูนย์กลางทางด้านต่างๆ ในระดับภูมิภาคจะเคยเป็นโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้วในญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน จีนและสิงคโปร์ ประเทศเหล่านี้ล้วนใช้กลยุทธลอกเลียน พัฒนาต่อยอด และดัดแปลงในภาวะที่การบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาไม่เข้มงวด แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน ความสำเร็จจะยากกว่าหลายเท่าตัว โดยเฉพาะในยุคที่สหรัฐฯ อาจหยิบเอามาตรา 301 Special มาใช้เพื่อปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อไหร่ก็ได้ หรืออียูจะบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเข้มงวดเพิ่มขึ้นได้ ประเด็นเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาจะถูกหยิบขึ้นมาใช้เป็นข้ออ้างในการใช้มาตรการกีดกันทางการค้ากับไทยเมื่อไหร่ก็ได้เช่นเดียวกัน