สภาพัฒน์ แถลง GDP ไตรมาส 1/67 โต 1.5% ดีกว่าตลาดคาด แต่หั่นคาดการณ์ทั้งปีเหลือโต 2.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 20, 2024 09:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สภาพัฒน์ แถลง GDP ไตรมาส 1/67 โต 1.5% ดีกว่าตลาดคาด แต่หั่นคาดการณ์ทั้งปีเหลือโต 2.5%

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) แถลงภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 1/67 เติบโต 1.5% จากตลาดคาดว่าจะเติบโตราว 0.7-0.8% เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวดี รวมทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ยังเติบโตได้ดี

อย่างไรก็ตาม สภาพัฒน์ ได้ปรับคาดการณ์ GDP ในปี 67 ลงเหลือเติบโต 2-3% หรือช่วงกลางของคาดการณ์ที่ 2.5% จากเดิมที่เคยคาดว่าจะเติบโต 2.2-3.2% เนื่องจากการส่งออกฟื้นตัวช้ากว่าคาด การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่ำกว่าที่เคยคาด และการลงทุนภาครัฐยังหดตัว

สภาพัฒน์ แถลง GDP ไตรมาส 1/67 โต 1.5% ดีกว่าตลาดคาด แต่หั่นคาดการณ์ทั้งปีเหลือโต 2.5%
*GDP ไตรมาส 1/67 โต 1.5% ลดลงจาก Q4/66

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒน์ กล่าวว่า ภาคการผลิตในไตรมาส 1/67 ขยายตัวได้ 1.5% ลดลงจาก 1.7% ในไตรมาส 4/66 เป็นผลจากภาคเกษตร ลดลง 3.5% ที่ผลผลิตพืชเกษตรสำคัญ เช่น ข้าวเปลือก ปาล์มน้ำมัน อ้อยและผลไม้ ลดลง การผลิตภาคนอกเกษตร ขยายตัวได้ 2.0% การผลิตภาคบริการ ขยายตัว 3.6% ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรม ลดลง 1.2% ตามการลดลงของการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง

สำหรับการลงทุนภาครัฐ ลดลงถึง 27.7% เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/66 ที่ลดลง 20.1% ปัจจัยหลักมาจากความล่าช้าในการประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ขณะที่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ลดลง 2.8 % ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวได้ 4.6% ซึ่งเป็นการขยายตัวทั้งด้านการก่อสร้าง และด้านเครื่องมือเครื่องจักร

การใช้จ่ายภาครัฐ ลดลง 2.1% ต่อเนื่องจากการลดลง 3% ในไตรมาส 4/66 เป็นผลจากความล่าช้าในการอนุมัติเบิกจ่ายงบประมาณ

สำหรับการบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว 6.9% ต่อเนื่องจาก 7.4% ในไตรมาส 4/66 ปัจจัยสำคัญมาจากการปรับตัวดีขึ้นของภาคบริการด้านการท่องเที่ยว และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่อยู่ในระดับสูงในรอบ 18 ไตรมาส รวมถึงสินค้ากึ่งคงทน สินค้าไม่คงทนและหมวดบริการขยายตัวต่อเนื่อง

ด้านการส่งออกสินค้า ลดลง 2.0% สำหรับสินค้าส่งออกที่ปรับตัวลดลงมาจากเครื่องปรับอากาศ รถกระบะและรถบรรทุก แผงวงจรรวมและชิ้นส่วน และชิ้นส่วนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ส่วนสินค้าที่มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น ข้าว ยางพารา และคอมพิวเตอร์ เหล็กและเหล็กกล้า และอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งยังส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 58.6 พันล้านบาท

*หั่นคาดการณ์ GDP ปี 67 เหลือโต 2-3% จากเดิม 2.2-3.2%

สภาพัฒน์ ปรับลดคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะขยายตัว 2-3% (ค่ากลาง 2.5%) จากเดิมคาดโตราว 2.2-3.2% แต่ปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ จากการขยายตัว 1.9 % ในปี 2566

นายดนุชา กล่าวว่า ตัวเลขที่ปรับลงมาในแง่ภาคผลิตอุตสาหกรรม และภาคส่งออก มีสัดส่วนค่อนข้างมากใน GDP และมาจากสถานการณ์จากภายนอกประเทศด้วย แต่ในขณะนี้งบประมาณปี 67 ออกมาแล้ว ทำให้ช่วงที่เหลือของปี 67 เม็ดเงินจากภาครัฐทยอยเข้ามาในระบบเศรษฐกิจและต้องมีการเร่งเบิกจ่าย ถ้าทำได้ดี เศรษฐกิจไทยน่าขยายตัวในกรอบนี้ และการส่งออกถ้าสามารถขยายตลาดได้ น่าปรับตัวดีขึ้น โดยรวมแล้วเศรษฐกิจยังขยายตัวได้อยู่ 2.5%

สำหรับการส่งออกของไทยหากเร่งทำตลาดและปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมของไทยที่กระทบการส่งออก น่าจะมีส่วนช่วยให้การส่งออกปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ อย่างไรก็ตาม สัดส่วนของการส่งออกสินค้าที่เป็นสินค้าไฮเทคโนโลยียังคงน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้เร่งดึงอุตสาหกรรมใหม่ๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีขั้นสูงผ่านกระบวนการบีโอไอ

*ปัจจัยสนับสนุนสำคัญในช่วงที่เหลือของปี ได้แก่

1. การเพิ่มขึ้นของแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐในช่วงที่เหลือของปี ภายหลังจากที่ประกาศใช้พ.ร.บ.งบประมาณ 67 และการปรับเพิ่มวงเงิน พ.ร.บ.งบประมาณ 68

2. การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว มาจากปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการยกเว้นการตรวจลงตราให้แก่นักท่องเที่ยว จากจีน อินเดีย รัสเซียและไต้หวัน รวมถึงมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพิ่มเติมของภาครัฐ

3. การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ สอดคล้องกับการฟื้นตัวดีของภาคการท่องเที่ยว ประกอบกับมีปัจจัยสนับสนุนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่สูงขึ้นต่อเนื่อง อัตราการว่างงานและแนวโน้มอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ

4. การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการลงทุนภาคเอกชน ตามการขยายตัวต่อเนื่องของการนำเข้าสินค้าทุน รวมทั้งแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของการขอรับการส่งเสริมการลงทุนและพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม

5. การกลับมาขยายตัวของภาคการส่งออกสินค้าตามการฟื้นตัวของการค้าโลก สอดคล้องกับข้อมูลดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและยอดคำสั่งซื้อสินค้าในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมที่เพิ่มสูงขึ้น

*ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามคือ

1. ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ยังอยู่ระดับสูง ซึ่งทางธนาคารพาณิชย์หรือภาคการเงิน อาจต้องพิจารณามาตรการต่างๆที่เข้ามาเสริม ที่ทำให้ SMEs เข้าถึงแหล่งทุนเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันสินเชื่อครัวเรือนยังมีปัญหา โดยเฉพาะรถยนต์และเริ่มมีปัญหาภาคที่อยู่อาศัย

2. ผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศที่อุณหภูมิค่อนข้างสูง ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตร ปรับตัวลดลง และช่วงที่เหลือของปีอาจประสบปัญหาอุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้น ต้องระวัดระวัง การติดตามสถานการณ์ และมาตรการช่วยเหลือภาคเกษตร

3. ความเสี่ยงความผันผวนของสถานการณ์เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลต่อการขนส่งผ่านคลองสุเอซมีการปรับตัวลดลงต่อเนื่อง

4.อัตราดอกเบี้ยนโยบาย มีการปรับลดลงช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของหลายๆประเทศ ซึ่งที่ผ่านมามีมาตรการกีดกันทางการค้าที่สหรัฐอเมริกาใช้กับจีน ทำให้ไทยต้องมีการเฝ้าระวังการทุ่มตลาดและสินค้าที่เข้ามา ต้องเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ

*การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 2567 ควรต้องให้ความสำคัญกับประเด็นดังต่อไปนี้

1. การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อให้เม็ดเงินรายจ่ายภาครัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว โดยการเร่งรัดเบิกจ่ายได้ไม่น้อยกว่า 90.0% ของงบประมาณรายจ่ายทั้งหมด

2. การดูแลสภาพคล่องให้เพียงพอสำหรับภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจ SMEs โดยเฉพาะธุรกิจที่มีศักยภาพแต่ประสบปัญหาการเข้าถึงสภาพคล่อง ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ การสร้างการรับรู้และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs เตรียมความพร้อมในการเข้าถึงสินเชื่อดิจิทัลแฟ็กเตอริงเพื่อเป็นทางเลือกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

3. การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร โดยให้ความสำคัญกับ เช่น การติดตามและวางแผนแนวทางในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างใกล้ชิด การเตรียมความพร้อมด้านการป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหาอุทกภัย การฟื้นฟูภาคเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งให้กลับมาฟื้นตัวโดยเร็ว การสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาเพื่อการปรับปรุงพันธุ์พืชให้ทนต่อสภาพอากาศและโรคพืช รวมทั้งให้มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เป็นต้น

4. การขับเคลื่อนการส่งออกควบคู่ไปกับการเร่งรัดปรับโครงสร้างเศรษฐกิจทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ โดยมุ่งเน้นการลดต้นทุนและแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าที่มีศักยภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดโลกเพิ่มขึ้น อาทิ สินค้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสินค้าที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์อันเนื่องมาจากความไม่แน่นอนจากความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งสินค้าที่มีโอกาสได้รับประโยชน์จากมาตรการกีดกันทางการค้า การติดตามเฝ้าระวังการทุ่มตลาดและการใช้มาตรการทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการไทย รวมถึงการดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ และมีกำลังซื้อสูง โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องการเข้ามาพำนักระยะยาว ผ่านการสร้างการรับรู้ต่อมาตรการ Long-term resident visa (LTR) และการส่งเสริมการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวให้มากขึ้นโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศในเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ

5. การติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ