ครม.ปรับกรอบงบ 67 เปิดทางใช้จ่าย "ดิจิทัลวอลเล็ต" ได้สูงสุด 1.22 แสนล้าน รอเคาะสรุปวงเงิน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 21, 2024 12:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแนวทางการจัดทำงบประมาณและปฏิทินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตามที่สำนักงบประมาณ เสนอเพื่อนำมาใช้ในการดำเนินโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวว่า จากการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเรื่องของแหล่งเงินได้มอบหมายให้สำนักงบประมาณและกระทรวงการคลังไปหารือกัน และในวันนี้ทางสำนักงบประมาณได้นำเสนอที่ประชุมครม. โดยมีทางเลือกที่จะใช้งบกลางได้ หรือเปลี่ยนงบ แต่การเปลี่ยนงบ ไม่ใช่ทางเลือกที่ดี เพราะจะมีปัญหาทางเทคนิค

ดังนั้น จึงตัดสินใจว่า ทำกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 แต่ต้องอยู่ภายใต้พ.ร.บ.งบประมาณ และหลักเกณฑ์ของวินัยการเงินการคลัง และอยู่ในกรอบหนี้สาธารณะ ไม่ให้เกินกรอบ 70% โดยจะนำรายละเอียดเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

ส่วนที่มีการจะเสนอการจัดทำกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 เพิ่มเติม จำนวน 1.22 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลนั้น นายพิชัย กล่าวว่า มีบางคนอาจคำนวณวงเงินไว้ประมาณนั้นถ้าอยู่ในกรอบ ซึ่งถือเป็นตัวเลขสูงสุด แต่ต้องดูรายละเอียดอีกครั้งว่า เป็นเท่าไร โดยจะนำเสนอครม. อีกครั้งในวันที่ 28 พ.ค. นี้

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง ชี้แจงแหล่งที่มาของเงินในโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ในส่วนของการใช้งบประมาณปี 67 ว่า ได้มีการพิจารณาไว้ 3 แนวทาง คือ จากงบกลาง การโอนงบประมาณ และการทำงบเพิ่มเติม และในวันนี้ได้พิจารณาตัดแนวทางการโอนงบออกไป เพราะจะทำให้เกิดการชะลอตัวในการใช้จ่าย ซึ่งไม่เหมาะกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ต้องการการกระตุ้น

ส่วนการทำงบเพิ่มเติมว่า เป็นการทำงบขาดดุลเพิ่มเติมที่ยังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง และกรอบหนี้สาธารณะซึ่งยืนยันว่า จะไม่ชนเพดานของหนี้สาธาณะ

"วันนี้ยังไม่ได้พิจารณา พูดว่า จะเพิ่มขึ้นไปเท่าไร เพราะเรายังเหลือออปชั่นหนึ่ง คือ งบกลาง และออปชั่นสาม คือ ทำงบเพิ่มเติมกลางปี ทั้งสองอันนี้รวมๆกันต้องได้ประมาณ 1.7 แสนล้านที่เราคุยๆกันไว้ ที่เป็นก้อนงบของปี 67 แต่สัดส่วนต่างๆยังไม่ตัดสินใจวันนี้"นายเผ่าภูมิ กล่าว

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวนทั้งสิ้น 3.48 ล้านล้านบาทนั้น สำนักงบประมาณ ได้จัดสรรงบประมาณแล้ว รวมทั้งสิ้น 3.45 ล้านล้านบาท คิดเป็น 99.37% โดยใช้จ่ายงบประมาณแล้วราว 1.75 ล้านล้านบาท คิดเป็น 50.61% ของงบประมาณที่จัดสรร ทำให้คงเหลืองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 สำหรับใช้จ่ายในระยะเวลา 5 เดือนที่เหลือไม่มาก

ซึ่งตามกฎหมายบอกว่า ถ้าจะเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายประจำปี ต้องทำโดย พ.ร.บ.โอนงบประมาณเท่านั้น ดังนั้น ถ้าทำตามนั้น การเบิกจ่ายของทุกหน่วยงานต้องหยุด จนกว่าการดำเนินการตาม พ.ร.บ.โอนเงินจะแล้วเสร็จ ซึ่งต้องใช้เวลา 2 เดือน และจะกระทบไปหมด ดังนั้น สำนักงบฯ จึงเสนอให้ใช้แนวทางจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม เท่ากับจำนวนที่จะโยกงบ ซึ่งจะออกมา balance กันพอดี จริงๆ คือไม่ได้เพิ่มงบ แค่เทคนิคการบริหารจัดการ ให้มัน run ไปได้โดยไม่ส่งผลกระทบกับโครงการของหน่วยงานต่างๆ...หากไม่ใช้วิธีนี้ เม็ดเงินใหม่ที่จะไหลลงไปในระบบเศรษฐกิจตามวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็จะมีอุปสรรค ไม่ส่งผลให้มีประสิทธิภาพต่อประชาชนได้

ดังนั้นการบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยการจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็นวิธีการบริหารจัดการงบประมาณ เพื่อดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลที่จะเพิ่มปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ