นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวว่า หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแนวทางการจัดทำงบประมาณและปฏิทินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ 2567 แล้วนั้น ส่วนงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องไปเร่งดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย เช่น การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลัง, การประชุมร่วม 4 ฝ่าย ระหว่างกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ต้องไปพิจารณากระบวนการในการทำงบประมาณเพิ่มเติมว่ายอดจะเป็นเท่าไร กลไก และแหล่งเงินจะเป็นอย่างไร
โดยต้องดำเนินการให้เป็นไปตามข้อสั่งการของ ครม. ที่เน้นย้ำว่าจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกรอบของกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง, พ.ร.บ. บริหารจัดการหนี้ ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 1-2 สัปดาห์จากนี้ เพื่อเสนอให้ ครม. พิจารณาต่อไป
พร้อมยืนยันว่า การจัดทำงบประมาณเพิ่มเติมในครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะที่ผ่านมา เคยมีการจัดทำงบประมาณเพิ่มเติมมาแล้วหลายครั้ง โดยภาพรวมการดำเนินงานทั้งหมด จะอยู่ภายใต้กรอบงบประมาณ มีเพดานกำหนด โดยเฉพาะประเด็นเรื่องหนี้สาธารณะ
"การจัดทำงบประมาณเพิ่มเติมครั้งนี้ หลัก ๆ เพื่อรองรับการดำเนินโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ซึ่งก่อนหน้านี้ ครม. ได้อนุมัติแหล่งเงิน 3 ส่วน คือ งบประมาณปี 2567, งบประมาณปี 2568 และวงเงินตามมาตรา 28 ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยในส่วนของงบประมาณปี 2567 นั้น ครม. ได้มอบหมายให้คลังและสำนักงบประมาณไปหารือกันว่ามีแนวทางไหนที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งในแนวทาง มีทั้งการโอนเปลี่ยนงบประมาณ การใช้งบกลาง และการจัดทำงบประมาณเพิ่มเติม ซึ่งหลังจากได้ประชุมหารือกัน ก็สรุปว่า แนวทางที่เหมาะสมคือ การจัดทำงบประมาณเพิ่มเติม" นายจุลพันธ์ กล่าว
รมช.คลัง กล่าวอีกว่า การโอนเปลี่ยนงบประมาณอาจจะไม่เหมาะ เพราะกังวลว่าจะไปกระทบการผลิต และการลงทุนในตลาดของภาคเอกชน ซึ่งจะมีผลต่อกลไกงบของรัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อาจจะทำให้เศรษฐกิจสะดุด ติดขัดได้
โดยขณะนี้ ได้รับรายงานจากกรมบัญชีกลาง ว่าการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 เป็นไปได้อย่างดีมาก ดังนั้นแนวทางที่เหมาะสมที่สุดก็คือการจัดทำงบประมาณเพิ่มเติม โดยยืนยันว่าการจัดทำงบประมาณเพิ่มเติมนี้ เป็นไปตามกลไกในการบริหารจัดการตามมติ ครม.