นายกฯ สร้างความเชื่อมั่นนลท.ญี่ปุ่น เสนอ 3 แนวทางร่วมมือรับความท้าทาย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 24, 2024 10:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกฯ สร้างความเชื่อมั่นนลท.ญี่ปุ่น เสนอ 3 แนวทางร่วมมือรับความท้าทาย

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุม Nikkei Forum Future of Asia ครั้งที่ 29 (the 29th Nikkei Forum Future of Asia) ณ โรงแรม Imperial กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น พร้อมกล่าวปาฐกถาภายใต้หัวข้อ Asian Leadership in an Uncertain World (การเป็นผู้นำของเอเชียในบริบทโลกที่มี ความผันผวน) ระบุว่า ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายครั้งใหญ่ ตั้งแต่ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจ ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งผลกระทบของโควิด-19 แต่มองว่าเป็นโอกาสสำหรับภูมิภาคที่จะมีบทบาท พร้อมนำเสนอความท้าทายเพื่อนำไปสู่ความร่วมมือ 3 ประการ เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน ดังนี้

  • ความท้าทายแรก ภูมิภาคเอเชียเปรียบเสมือนจุดสมดุล ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมามหาอำนาจ พยายามรักษาความสมดุลที่เหมาะสมในการดำเนินความร่วมมือกับภูมิภาคเอเชีย ซึ่งทำให้เอเชียอยู่ในจุดสำคัญที่ไม่เหมือนใครในเวทีโลก โดยเฉพาะอาเซียนที่มุ่งมั่นรักษาความเป็นแกนกลางและดำเนินความร่วมมือกันเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ทั้งจากสถานการณ์ในเมียนมา ไต้หวัน หรือทะเลจีนใต้ ตลอดจนความความขัดแย้งในยูเครนและตะวันออกกลาง

แม้จะมีความท้าทายแต่เป้าหมายสำคัญที่ทุกฝ่ายควรมีคือนำความมั่งคั่งเจริญรุ่งเรืองในระยะยาวมาสู่ประชาชน รวมถึงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค แม้อาเซียนจะไม่เข้าข้างฝ่ายใด แต่อาเซียนมีจุดยืนที่ยังคงระมัดระวัง (ASEAN doesn?t take sides, it doesn?t mean we do not take a stand) และต้องมุ่งมั่นที่จะปกป้องผลประโยชน์บนความเชื่อพื้นฐาน เช่น สถานการณ์ในเมียนมา อาเซียนกำลังทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิด สันติสุข มั่นคง และเป็นเอกภาพ พร้อมอยากเห็นเมียนมากลับมาบนเส้นทางประชาธิปไตยอีกครั้ง

โดยไทยสนับสนุนการเจรจาสันติภาพระหว่างฝ่ายต่างๆ และประสานงานอย่างใกล้ชิดกับ สปป.ลาว ในฐานะประธานอาเซียน ประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมา และพันธมิตรอื่นๆ รวมถึงยกระดับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมสำหรับชาวเมียนมาตามแนวชายแดนของไทย สิ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า เอเชียสามารถเป็นผู้นำผ่านความพยายามร่วมกันและเสียงที่เป็นเอกภาพ เพราะเมื่อรวมกันแล้ว เสียงของเราจะดังที่สุด (Because together, we speak loudest)

  • ความท้าทายที่สอง มีหลายคนกล่าวว่า ความร่วมมือพหุภาคีและโลกาภิวัฒน์กำลังลดลง มหาอำนาจแข่งขันกันเอง ซึ่งยังมองเห็นโอกาส ฟื้นคืนจิตวิญญาณของความร่วมมือ โอกาสเสริมสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคและระหว่างภูมิภาคที่เปิดกว้างและมองไปยังโลกภายนอก ซึ่งประเทศในเอเชียควรร่วมมือกันและทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น
  • ความท้าทายที่สาม โลกกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว และเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น Internet of Things AI เทคโนโลยีทางการเงิน ควอนตัมคอมพิวเตอร์ บล็อกเชน ทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวข้ามขอบเขต ซึ่งต้องคำนึงถึงผลกระทบด้วย ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์หรือความเสียหาย ต้องเตรียมคนให้พร้อม ต้องสร้างสมดุล ทั้งส่งเสริมการศึกษาในระบบ เพิ่มทักษะความรู้ด้านดิจิทัล รวมถึงออกกฎหมายและกฎระเบียบที่ส่งเสริมนวัตกรรม

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงการเสริมสร้างความยืดหยุ่นเพื่อรับมือกับความท้าทายภายในเอเชีย ซึ่งสิ่งนี้เป็นจุดที่ภูมิภาคเอเชียสามารถสร้างความแตกต่างได้ เพราะไม่มีประเทศใดจะรับมือได้เพียงลำพัง และในศตวรรษแห่งเอเชีย (Asian Century) นี้ ประเทศในเอเชียจะต้องอยู่ร่วมกัน และแสดงบทบาทนำในเวทีโลกต่อไป ภูมิภาคเอเชียเป็นผู้ผลิตและครัวของโลก มีความสำคัญในห่วงโซ่อุปทานโลก เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ มีประชากรมากกว่า 4.78 พันล้านคน ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลก โดยได้นำเสนอถึงประเด็นความร่วมมือเร่งด่วน 3 ประการ ดังนี้

ประการแรก การค้าและการลงทุน ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจเป็นรากฐานของสันติภาพและเสถียรภาพ ช่วยส่งเสริมการพัฒนาทางสังคมและมนุษย์ การเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่งผลสำคัญทำให้ประชาชนสามารถเติบโตได้ ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ผลกระทบจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ทั่วโลก นำไปสู่ปรากฏการณ์ของการย้ายฐานการผลิตกลับสู่ประเทศแม่และประเทศใกล้เคียง รวมไปถึงการย้ายฐานการผลิตไปสู่ประเทศพันธมิตรที่มีความปลอดภัย ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจโลกหยุดชะงัก ภูมิภาคเอเชียจะต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่เหล่านี้

ภูมิภาคเอเชียเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 แต่ก็เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ฟื้นตัวได้เร็วที่สุด สามารถต่อสู้กับความท้าทาย มีอิทธิพลและมีความสำคัญเชิงกลยุทธ์มากขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปและมั่นคง โดยในอนาคต ภูมิภาคเอเชียควรส่งเสริมระบบการค้าแบบพหุภาคีร่วมกับ WTO พร้อมส่งเสริมสภาพแวดล้อมการค้าและการลงทุนที่เสรี เปิดกว้าง ยุติธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ โปร่งใส และครอบคลุมต่อไป ภูมิภาคเอเชียเดินทางมาไกลผ่านความร่วมมือทาง เศรษฐกิจระดับภูมิภาค เช่น RCEP ซึ่งสร้างขึ้นจากความตกลงการค้าเสรี (FTA) อาเซียน+1 ที่มีอยู่กับพันธมิตร ซึ่งรวมถึงญี่ปุ่น ทำให้เกิดเป็น FTA ขนาดใหญ่ที่สุด และมี GDP รวมคิดเป็น 1 ใน 3 ของประชากรโลก

อย่างไรก็ตาม ศักยภาพความร่วมมือทางเศรษฐกิจของเอเชียที่สามารถเติบโตได้มากขึ้น โดยเชื่อว่าการเจรจา FTA ควรมีความสำคัญสูงสุด ต้องใช้เขตการค้าเสรีเพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน และตลาดสินค้าที่หลากหลาย ปัจจุบันไทยได้ลงนาม FTA 15 ฉบับกับ 19 ประเทศ โดยล่าสุดกับศรีลังกา และอีก 7 ความตกลงที่อยู่ระหว่างดำเนินการ รวมถึง EU และ EFTA ด้วย

นอกจากนี้ ไทยแสดงเจตจำนงร่วมเป็นสมาชิก OECD พร้อมขอบคุณญี่ปุ่นสำหรับการสนับสนุน และแสดงบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมระหว่าง OECD กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น โดยไทยอยู่ระหว่างการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางการลงทุนและยกระดับมาตรฐาน มุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างระบบนิเวศในการดำเนินธุรกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลกเพื่อรักษาและดึงดูดนักลงทุน

ประการที่สอง การเปลี่ยนผ่านสีเขียว การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย เป็นความรับผิดชอบของทุกคน โดยสามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่ที่บ้าน (Being green starts at home) ซึ่งในความพยายามอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับแรกของประเทศไทยจะมีผลบังคับใช้ภายในไม่กี่ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้จัดตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เพื่อดูแลการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศโดยรวมของประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างมาก โดยเฉพาะภาคพลังงานและการขนส่ง โดยไทยยินดีรับการลงทุนเพิ่มเติมในด้านไฮโดรเจนสีเขียว และเทคโนโลยีดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงการขยายตลาดคาร์บอนเครดิต ขณะที่ด้านการขนส่ง รัฐบาลกำลังเดินหน้าสู่การเป็นศูนย์กลางคมนาคมแห่งอนาคต และสร้างอุตสาหกรรมห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ครอบคลุม โดยเป้าหมายแรกคือ การเพิ่มการผลิต EV ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ให้ได้ 30% ภายในปี 2573

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังคงสนับสนุนผู้ผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป (ICE) ของญี่ปุ่นในช่วงของการเปลี่ยนผ่านนี้ โดยไทยให้ความสำคัญกับญี่ปุ่น และนักลงทุนชาวญี่ปุ่นที่มีบทบาทสำคัญมายาวนานในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความร่วมมือของอาเซียนในการใช้พลังงานสะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งประเทศในอาเซียนอยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการเชื่อมโยงระบบส่งไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Power Grid) ที่จะช่วย เพิ่มส่วนแบ่งของพลังงานหมุนเวียนในภูมิภาค โดยประเทศไทยมีแนวทางจะเพิ่มส่วนแบ่งของพลังงานสะอาด และพลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าให้ได้อย่างน้อย 50% ภายในปี 2583 ภาคเอกชน และสถาบันการเงินเป็นส่วนสำคัญ สำหรับการสร้างระบบนิเวศและโครงสร้างพื้นฐานสำหรับพลังงานสะอาดนี้ โดยควรจัดให้มีสิทธิประโยชน์ ทั้งด้านภาษีและที่ไม่ใช่ภาษีให้เหมาะสม ซึ่งการเงินที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถเป็นแรงผลักดันหลักได้ โดยประเทศไทยได้ออกตราสารหนี้สีเขียว (Green bonds) ตั้งแต่ปี 2564 และจะมีการออกตราสารหนี้ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนเพิ่มเติมในปีนี้ ซึ่งมีมูลค่า ประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยยินดีต้อนรับนักลงทุนทุกคนให้เข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนภูมิภาคไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนมากขึ้น

ประการที่สาม การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล โลกที่เชื่อมต่อกันทางดิจิทัล ไม่เพียงแต่เชื่อมต่อทางเศรษฐกิจดิจิทัลเท่านั้น แต่ยังสร้างสังคมดิจิทัลเต็มรูปแบบ ซึ่งการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน โดยประเทศไทย ประชาชนที่มีความสนใจทางดิจิทัลได้เริ่มเดินหน้าไปสู่การเปลี่ยนผ่านนี้แล้ว โดยเป็นผลสืบเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ระบบการชำระเงินผ่าน QR Code ขยายตัวรวดเร็ว แอปพลิเคชันส่ง อาหาร และการซื้อของออนไลน์ได้กลายเป็นสิ่งจำเป็น โดยปัจจุบันระบบการชำระเงินข้ามพรมแดนของไทยเชื่อมโยงกับหลายประเทศแล้ว ส่วนใหญ่เป็นประเทศในกลุ่มอาเซียน รวมถึงญี่ปุ่นซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของคนไทย

นอกจากนี้อาเซียนอยู่ระหว่างการเจรจากรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Framework Agreement: DEFA) ซึ่งหากเสร็จสิ้นจะกลายเป็นข้อตกลงระดับภูมิภาคฉบับแรกของโลก โดยคาดว่าจะเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคเป็นสองเท่า หรือ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2583

นายกรัฐมนตรี เชื่อมั่นว่า ทั้งสามประการข้างต้นจะนำภูมิภาคเอเชียเข้าใกล้โลกที่ปรารถนาที่จะเห็นมากยิ่งขึ้น โดยแต่ละประเทศต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน เพราะไม่มีใครสามารถบรรลุเป้าหมายนี้ได้โดยลำพัง เวทีการประชุมอย่าง Nikkei Forum นี้ จึงควรประสานความร่วมมือ โดยนำภาครัฐและเอกชนมาหารือร่วมกันแบ่งปันความคิด แนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ และบทเรียนร่วมกัน

นอกจากนี้ เอเชียจะต้องรักษาบทบาทนำร่วมกัน เพื่อจุดประกายการเติบโต และฟื้นฟูความไว้เนื้อเชื่อใจกันในระบบโลก ซึ่งช่วยสร้างความแข็งแกร่งในยุค Asian Century ขณะนี้ถึงเวลาสู่การปฏิบัติ พร้อมขอให้มั่นใจว่าไม่ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ไทยจะยืนเคียงข้างญี่ปุ่น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ