นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ครั้งที่ 3/2567 เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ วานนี้ (23 พ.ค.) ได้หารือถึงความคืบหน้าการจัดทำระบบเชื่อมข้อมูลต่าง ๆ ผ่านระบบธนาคาร โดยยืนยันว่า ดิจิทัลวอลเล็ตจะเชื่อมต่อทุกระบบจ่ายเงินออนไลน์ แอปพลิเคชั่นธนาคาร รวมถึงระบบวอลเล็ตด้วย
พร้อมกันนี้ มีการหารือในเรื่องการทำ Open Loop ระหว่างสมาคมการค้าผู้ให้บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ไทย (Thailand E-Payment Trade Association: TEPA) ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFI) เพื่อจัดทำระบบการชำระเงินในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ส่วนวิธีการจะเชื่อมต่อ รวมถึงการยืนยันตัวตน และการให้ยินยอมความเป็นส่วนตัวจะเป็นแบบไหนนั้น ทั้งหมดนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยกันเพื่อหาข้อสรุป
"การใช้จ่ายดิจิทัลวอลเล็ต จะสามารถใช้จ่ายผ่านธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ และธนาคารพาณิชย์ รวมถึงวอลเล็ตต่างๆ ได้อย่างแน่นอน ซึ่งการใช้จ่ายดิจิทัลวอลเล็ต จะปรากฎอยู่บนแอปฯ ธนาคาร และวอลเล็ตทุกประเภทที่เข้าร่วม โดยจะใช้แอปพลิเคชั่นชื่อว่า "ทางรัฐ" เป็นตัวเชื่อม ยืนยันว่าการจัดทำระบบทุกอย่าง จะเสร็จสิ้นภายในไตรมาส 3 นี้" นายจุลพันธ์ กล่าว
รมช.คลัง กล่าวด้วยว่า ในส่วนของผู้มีสิทธิร่วมโครงการ แต่ไม่มีสมาร์ทโฟนนั้น ยืนยันว่าจะสามารถใช้เงินดิจิทัลผ่านบัตรประจำตัวประชาชนได้อย่างแน่นอน ซึ่งอยู่ระหว่างการวางระบบ รวมทั้งกลุ่มผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง ที่ต้องการจะรับสิทธิ แต่ไม่สามารถใช้จ่ายเองได้ ซึ่งต้องมีการมอบสิทธิให้กับผู้แทนนั้น จะต้องไปดูระบบให้ครอบคลุม ไม่ให้เกิดการรั่วไหล ซึ่งจากฐานข้อมูลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จะมีผู้มีสิทธิในกลุ่มนี้ประมาณล้านคน
ด้านนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง กล่าวว่า จากการประชุมในระดับนโยบายของหน่วยงานที่มีส่วนร่วมกับในระบบนี้ ได้รับเสียงตอบรับที่ดีมาก และเห็นด้วยกับกับการเชื่อมต่อในลักษณะนี้ โดยเฉพาะ TEPA ที่เป็นระบบวอลเล็ต ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ โดยจะมีการหารือในที่ประชุมอีกวงหนึ่งในเชิงเทคนิคต่อไป
"กรอบเบื้องต้น พอให้เห็นภาพ คือ ในแอปพลิเคชั่นของธนาคาร ตัวดิจิทัลวอลเล็ตจะเป็นอีกไอคอนที่อยู่ในแอปฯ เพื่อสะดวกกับการใช้งาน ก็กดเลือกใช้ โดยจะเป็นไอคอนแยกต่างหากที่จะผูกอยู่กับแอปของแบงก์" นายเผ่าภูมิ กล่าว