Krungthai COMPASS ประเมินสถานการณ์การส่งออกสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมเกษตรของไทย ว่า ในไตรมาส 1/2567 มูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร อยู่ที่ 11,880 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 4.2 แสนล้านบาท) ขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ 0.3% หลังจากไตรมาสก่อนขยายตัว 3.7%
โดยสินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ ข้าว ขยายตัว 43.2% ได้รับอานิสงส์จากความกังวลด้านความมั่นคงทางอาหาร และนโยบายจำกัดการส่งออกข้าวของอินเดีย, ยางพารา ขยายตัว 24.9% ส่วนหนึ่งจากฐานที่ต่ำในปีก่อน และราคาส่งออกที่เพิ่มขึ้นมาก ขณะที่อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 4.7% เป็นการกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส เนื่องจากปริมาณสินค้าคงคลังของคู่ค้าทยอยลดลง
Krungthai COMPASS ระบุว่า แม้การส่งออกสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมเกษตรของไทยในปี 2567 จะยังขยายตัวได้ แต่มีปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ดังนี้
1. ปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางที่เพิ่มขึ้น อาจกระทบต่อปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรไทย และต้นทุนค่าขนส่ง แม้ว่าปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ จะเป็นโอกาสสำหรับการส่งออกสินค้าในกลุ่มอาหารของไทย ส่งผลให้มีการเร่งนำเข้าเพื่อกักตุน เนื่องจากความกังวลด้านความมั่นคงทางอาหาร
อย่างไรก็ดี หากสงครามระหว่างอิสราเอลและอิหร่านทวีความรุนแรงมากขึ้น จะทำให้ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรไทย ต้องแบกรับภาระต้นทุนค่าขนส่งที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ตามราคาน้ำมันในตลาดโลก และอาจทำให้การขนส่งสินค้าไปยังตะวันออกกลางหยุดชะงัก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสินค้าไทยที่พึ่งพาตลาดตะวันออกกลางในสัดส่วนที่สูง เช่น สินค้าในกลุ่มข้าว และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น
2. ความท้าทายจากการแข่งขันในตลาดจีน ที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มผลไม้สด แช่เย็นแช่แข็ง และแห้ง เนื่องจากหลายประเทศกำลังเร่งพัฒนาคุณภาพทุเรียน และต่อคิวขอใบอนุญาตส่งออกทุเรียนสดเข้าจีน โดยคาดว่ามาเลเซีย อาจได้รับอนุญาตส่งออกทุเรียนสดเข้าจีนได้ภายในปี 2567 ซึ่งอาจทำให้การแข่งขันด้านราคาของทุเรียนสดในตลาดจีนรุนแรงมากขึ้น กระทบต่อการส่งออกทุเรียนของไทย
3. ต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น อาจกดดันต่ออัตรากำไรของผู้ประกอบการสินค้าเกษตรและอาหาร โดยล่าสุดรัฐบาลมีแผนจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 400 บาท โดยให้เริ่มมีผลในวันที่ 1 ต.ค.67 ซึ่งจะกระทบกับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่กระบวนการผลิตมีการใช้แรงงานจำนวนมาก เช่น อาหารทะเลกระป๋อง และแปรรูป ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง และแห้ง เป็นต้น
4. ประเทศคู่ค้าที่มุ่งเน้นมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นความเป็นกลางทางคาร์บอน และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เช่น กฎหมายที่ห้ามนำเข้าหรือส่งออกสินค้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำลายป่าไม้เข้าสู่ตลาดของสหภาพยุโรป (EU Deforestation-free products) ที่จะเริ่มนำมาใช้อย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 30 ธ.ค.67 อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปยังประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มยางพารา และน้ำมันปาล์ม
Krungthai COMPASS ยังได้ประเมินทิศทางการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญในปี 2567-2568 ดังนี้
1. ข้าว
- ในปี 2567 คาดว่าปริมาณการส่งออกข้าวจะอยู่ที่ 8.9 ล้านตัน ขยายตัวราว 1.9% จากปัญหาอุปทานข้าวโลกที่ยังตึงตัว จากปัจจัยเอลนีโญ ทำให้ประเทศคู่ค้ายังมีการสะสมสต็อกข้าว ขณะที่ผลผลิตข้าวไทยจะยังมีเพียงพอสำหรับส่งออก เนื่องจากปัญหาภัยแล้งในช่วงครึ่งปีแรกอาจส่งผลต่อไทยน้อยกว่าที่คาดไว้เดิม ประกอบกับช่วงครึ่งปีหลัง ไทยมีแนวโน้มเข้าสู่ปรากฎการณ์ลานีญ่า หรือฝนตกชุก ส่งผลดีต่อการเพาะปลูก อีกทั้งราคาส่งออกข้าวจะยังได้รับผลดีจากราคาข้าวในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น จากการคงนโยบายการจำกัดการส่งออกข้าวของอินเดียที่คาดว่าจะมีผลไปจนถึงช่วงกลางปี 2567 โดยเฉพาะราคาส่งออกข้าวขาว 5% ของไทยเฉลี่ยที่คาดว่าจะอยู่ที่ 620 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน หรือเพิ่มขึ้น 13.0%YoY
จากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น คาดว่าจะส่งผลดีต่อรายได้โดยรวมของผู้เล่นในตลาดข้าว ตั้งแต่เกษตรกร หยง รวมไปถึงผู้ส่งออกข้าว อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามปัญหาต้นทุนค่าขนส่ง และค่าปุ๋ยเคมี ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ อาจกระทบความสามารถในการทำกำไรของอุตสาหกรรมข้าว
- ส่วนปี 2568 คาดว่าปริมาณการส่งออกจะลดลงมาอยู่ที่ 7.8 ล้านตัน หรือลดลง -12.5% โดยหากภัยแล้งในอินเดียเริ่มคลี่คลาย จะทำให้อินเดียผ่อนคลายนโยบายควบคุมการส่งออกข้าวมากขึ้น ทำให้อานิสงส์จากการที่ผู้นำเข้าข้าวหันมานำข้าวไทยทดแทนอินเดียทยอยหมดลง ส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับลดลง โดยคาดว่าราคาส่งออกข้าวขาว 5% เฉลี่ยของไทยจะอยู่ที่ 595 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน หรือลดลง -4.1%
2. ยางพารา (ยางแผ่น/ยางแท่ง)
- ในปี 2567 คาดว่ามูลค่าส่งออกยางแผ่นและยางแท่ง จะอยู่ที่ 1.31 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 34.8% โดยเป็นผลจากราคาส่งออกที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 32.8% เป็น 1.93 พันเหรียญสหรัฐฯ/ตัน เพราะช่วงครึ่งปีแรกคาดว่าราคาส่งออกจะอยู่ในระดับสูง เนื่องจากผลผลิตยางพาราโลก ต่ำกว่าความต้องการใช้ยางพาราของโลก เพราะผลผลิตยางพาราของประเทศผู้ผลิตสำคัญ เช่น ไทย และอินโดนีเซีย ได้รับผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญ ในช่วงปลายปี 2566 ส่วนในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 คาดว่าราคาส่งออกยางพาราจะมีแนวโน้มลดลง ตามผลผลิตยางพาราโลกที่ปรับเพิ่มขึ้น จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ส่วนปริมาณส่งออกจะเพิ่มขึ้น 2.0% ตามภาวะอุตสาหกรรมยานยนต์โลกที่ทยอยฟื้นตัว
ส่วนปี 2568 คาดว่ามูลค่าส่งออกยางแผ่นและยางแท่ง จะอยู่ที่ 1.33 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.6% โดยเป็นผลจากปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้น 4.0% เป็น 2.1 ล้านตัน ตามการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์โลก อีกทั้งภาคการผลิตในจีนที่ค่อยๆ ฟื้นตัว ทำให้ความต้องการใช้ยางเพื่อเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมยานยนต์ในจีนเพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาส่งออกยางพาราปรับตัวลดลง -2.4% เป็น 1.89 พันเหรียญสหรัฐฯ/ตัน จากผลผลิตยางพาราโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก
3. น้ำยางข้น
- ในปี 2567 คาดว่ามูลค่าส่งออกน้ำยางข้น จะอยู่ที่ 3.7 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 34.8% โดยเป็นผลจากราคาส่งออกน้ำยางน้ำข้นที่คาดว่าจะอยู่ที่ 52.1 บาท/กก. หรือเพิ่มขึ้น 32.8% และปริมาณการส่งออก ที่จะเพิ่มขึ้น 2.0% เป็น 0.79 ล้านตัน ตามความต้องการใช้เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตในอุตสาหกรรมยางทางการแพทย์
- ส่วนปี 2568 คาดว่ามูลค่าการส่งออกน้ำยางข้น จะอยู่ที่ 3.8 หมื่นล้านบาท ลดลง -10.4% ตามปริมาณการส่งออกที่จะเพิ่มขึ้น 4.0% เป็น 0.82ล้านตัน จากความต้องการใช้เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตในอุตสาหกรรมยางทางการแพทย์ ขณะที่ราคาส่งออกน้ำยางข้นลดลงเท่ากับ 50.8 บาท/กก หรือลดลง -2.4% ตามผลผลิตยางพาราโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น
4. มันสำปะหลัง (มันเส้น/มันอัดเม็ด)
- ในปี 2567-2568 คาดว่าอุตสาหกรรมต่อเนื่องในจีน จะนำเข้ามันสำปะหลังจากไทยเพื่อทดแทนการใช้ข้าวโพดในประเทศ เนื่องจากความต้องการใช้ต่อสต็อกข้าวโพดของจีนที่ยังสูงอยู่ที่ราว 1.5 เท่า แต่ผลผลิตมันสำปะหลังไทย อาจไม่เพียงพอต่อการส่งออกในปี 2567 เนื่องจากปัญหาภัยแล้งในช่วงครึ่งแรก จะทำให้ผลผลิตมันสำปะหลังได้รับความเสียหาย อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านเอลนีโญเข้าสู่ลานีญาในช่วงครึ่งปีหลัง จะเอื้อต่อการเพาะปลูกมากขึ้น ส่วนในปี 2568 หากสภาพอากาศเอื้ออำนวย คาดว่าจะทำให้ผลผลิตกลับมาขยายตัวได้
จากปัจจัยดังกล่าว จึงคาดว่าในปี 2567 ปริมาณส่งออกมันเส้นและมันอัดเม็ด จะอยู่ที่ 4.3 ล้านตัน หรือหดตัว -4.0% สำหรับราคาเฉลี่ยมันเส้นในประเทศ และราคาส่งออกจะอยู่ที่ 8.8 บาท/กก. และ 276 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ตามลำดับ (เพิ่มขึ้น 1.0% และ 1.5%)
ส่วนในปี 2568 ปริมาณส่งออกมันเส้น และมันอัดเม็ด จะอยู่ที่ 4.6 ล้านตัน หรือขยายตัว 5.0% ขณะที่ราคาเฉลี่ยมันเส้นในประเทศและราคาส่งออกจะปรับลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 8.7 บาท/กก. และ 270 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ตามลำดับ (ลดลง -1.0% และ -2.0%)
5. แป้งมันสำปะหลัง
- ในปี 2567 คาดว่าปริมาณส่งออกแป้งมันสำปะหลัง จะอยู่ที่ 3.9 ล้านตัน หรือหดตัว -1.0% สำหรับราคาเฉลี่ยแป้งมันสำปะหลังในประเทศ และราคาส่งออกแป้งมันสำปะหลัง จะอยู่ที่ 18.6 บาท/กก. และ 578 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ตามลำดับ (เพิ่มขึ้น 2% และ 4%)
- ส่วนในปี 2568 ปริมาณส่งออกแป้งมันสำปะหลัง จะอยู่ที่ 4.1 ล้านตัน หรือขยายตัว 6.0% สำหรับราคาเฉลี่ยแป้งมันสำปะหลังในประเทศ และราคาส่งออกจะอยู่ที่ 18.4 บาท/กก. และ 566 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ตามลำดับ (ลดลง -1.0% และ -2.0%)
6. ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง
- ในปี 2567-2568 คาดว่า มูลค่าการส่งออกผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งของไทย จะอยู่ที่ราว 2.48 และ 2.63 แสนล้านบาท หรือขยายตัว 4.8% และ 5.8% ตามลำดับ โดยในปี 2567 มูลค่าการส่งออกจะเติบโตในอัตราที่ชะลอลงจากปีก่อน เพราะปัจจัยกดดันด้านผลผลิตเป็นหลัก โดยแม้ราคาทุเรียนที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี จึงจูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก แต่ปัญหาความแปรปรวนของสภาพอากาศที่ร้อนและแล้งจัด ทำให้ผลผลิตต่อไร่ของทุเรียนลดลง ทั้งนี้ คาดว่าปัญหาดังกล่าวจะบรรเทาลงในปี 2568 จากสภาพอากาศและปริมาณน้ำที่เอื้ออำนวย
นอกจากนี้ แม้ความต้องการบริโภคผลไม้เมืองร้อนของชาวจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่การส่งออกไปจีนเผชิญปัจจัยท้าทายจากคู่แข่งที่สูงขึ้น ภายหลังเวียดนาม และฟิลิปปินส์ สามารถส่งออกทุเรียนสด เข้าจีนตั้งแต่เดือน ก.ค.65 และ ม.ค.66 ตามลำดับ อีกทั้งหลายประเทศกำลังเร่งพัฒนาคุณภาพทุเรียน และต่อคิวขอใบอนุญาตส่งออกทุเรียนสดเข้าจีน เช่น มาเลเซีย ลาว และกัมพูชา เป็นต้น
รวมถึงผลผลิตทุเรียนของจีนที่จะออกสู่ตลาดมากขึ้น ซึ่งจะทำให้การแข่งขันด้านราคาในตลาดจีนมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น และอาจเป็นปัจจัยบั่นทอนต่อการเติบโตของการส่งออกทุเรียนของไทย ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพ และความปลอดภัยของสินค้า เพื่อให้ได้ตามมาตรฐานที่ประเทศคู่ค้ากำหนด เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันระยะยาว
7. ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป
- ในปี 2567-2568 คาดว่ามูลค่าการส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป จะอยู่ที่ 1.46 และ 1.53 แสนล้านบาท หรือขยายตัว 4.0% และ 5.0% ตามลำดับ เนื่องจากการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปมีทิศทางฟื้นตัว ตามการเติบโตของการท่องเที่ยวและธุรกิจร้านอาหาร ส่งผลให้ความต้องการนำเข้าไก่แปรรูปเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับการส่งออกไก่แปรรูปของไทยไปญี่ปุ่นที่ยังขยายตัว ตามพฤติกรรมของผู้บริโภคในญี่ปุ่นที่นิยมบริโภคอาหารพร้อมทาน รวมทั้งการระบาดของไข้หวัดนกในญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป จะช่วยหนุนการนำเข้าไก่เนื้อของไทยเพิ่มขึ้น
สำหรับการส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง จะยังได้รับผลดีจากการระบาดของโรคไข้หวัดนกในจีน อีกทั้งยังได้รับผลดีจากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ในจีนและเวียดนาม ทำให้มีการนำเข้าไก่เนื้อเพื่อทดแทนสุกรมากขึ้น นอกจากนี้ ยังรวมถึงมาตรการลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าไก่เหลือ 0% ของเกาหลีใต้ หลังบราซิล ซึ่งเป็นประเทศที่เกาหลีใต้นำเข้าไก่เป็นอันดับหนึ่ง ประสบปัญหาโรคไข้หวัดนก ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการส่งออกไก่ของไทย
สำหรับการส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งของไทย ยังมีโอกาสในการขยายการส่งออกไปยังซาอุดิอาระเบีย เนื่องจากเป็นประเทศผู้นำเข้าไก่รายใหญ่อันดับ 6 ของโลก ประกอบกับภาครัฐของไทยมีการส่งเสริมการส่งออกสินค้าไก่ ซึ่งเป็นไก่ฮาลาลไปยังซาอุดิอาระเบียเพิ่มขึ้น หลังจากมีการยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูตทั้ง 2 ประเทศ