Sandwich Generation มักใช้เรียกคนที่อยู่ตรงกลางที่ต้องรับผิดชอบดูแลทั้งพ่อแม่สูงอายุและลูกของตนเอง ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากประชากรสูงวัยทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น ขณะที่วัยแรงงานมีจำนวนลดลงหรือเท่าเดิม ทำให้ประชากรของหลายประเทศกลายเป็นคน Sandwich Generation
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า สำหรับประเทศไทย การศึกษาถึงคนกลุ่มนี้ในปัจจุบันยังจำกัด โดยครัวเรือนขยายที่ประกอบด้วยสมาชิก 3 รุ่นขึ้นไป อาจมีความใกล้เคียงกับครัวเรือน Sandwich ซึ่งจากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบลักษณะที่น่าสนใจของครัวเรือนดังกล่าว ดังนี้
- ครัวเรือนไทยที่มีลักษณะเป็น Sandwich มีจำนวนทั้งสิ้น 3.4 ล้านครัวเรือน ในปี 66 คิดเป็น 14% ของครัวเรือนทั้งหมด ลดลงเมื่อเทียบกับปี 60 โดยส่วนใหญ่เป็นครัวเรือน 3 รุ่น
- ครัวเรือน Sandwich แม้สมาชิกส่วนใหญ่เป็นวัยแรงงาน แต่มีอัตราการพึ่งพิงสูงกว่าครัวเรือนประเภทอื่น เนื่องจากวัยสูงอายุมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ขณะที่วัยแรงงานมีสัดส่วนลดลง
- สมาชิกครัวเรือน Sandwich ส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ โดย 47.2% ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและเป็นแรงงานทั่วไป ขณะที่หัวหน้าครัวเรือน 31.9% ทำงานส่วนตัว ทำให้กว่า 80% ขาดหลักประกันรายได้ที่มั่นคงในยามเกษียณ อีกทั้งยังเป็นกลุ่มที่มีทรัพย์สินทางการเงินเพื่อการออมน้อย
- ครัวเรือน Sandwich มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้เพื่อการอุปโภคบริโภคสูงกว่าคนกลุ่มอื่น โดยส่วนใหญ่มีรายได้ไม่สูงนัก เกิดจากระดับการศึกษาต่ำ
จากสถานการณ์ข้างต้น แม้ว่าแนวโน้มครัวเรือน Sandwich จะลดลง แต่คนที่เป็น Sandwich Generation ยังมีภาระที่ต้องแบกรับที่สำคัญ คือ
1. ความเปราะบางทางการเงิน โดย 49.1% ของครัวเรือน Sandwich มีรายได้สุทธิคงเหลือน้อยกว่า 10% และ 69.8% ยังมีภาระหนี้สิน อีกทั้งภาระหนี้สินต่อรายได้ต่อเดือนยังสูงกว่าภาพรวมครัวเรือนทั้งประเทศ ส่งผลต่อความสามารถทางการเงินในระยะยาว
2. ผลกระทบต่อสุขภาพ กลุ่มคน Sandwich มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรัง และมีสัดส่วนการเป็นหรือเคยเป็นโรค NCDs สูงกว่าค่าเฉลี่ยของหัวหน้าครัวเรือนทั้งประเทศ นอกจากนี้ ยังประสบปัญหาความเครียด และปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการต้องจัดสรรเวลาการทำงาน และดูแลสมาชิกในครัวเรือนไปพร้อมกัน
ทั้งนี้ มีแนวทางในการลดภาระที่จะเกิดขึ้นกับครัวเรือน Sandwich คือ
1. การส่งเสริมทักษะทางการเงิน ตั้งแต่ก่อนวัยเกษียณ
2. การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีงานทำ สำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการทำงาน อาทิ การส่งเสริมการฝึกอบรมทักษะแรงงานผู้สูงอายุร่วมกับการจับคู่งานเชิงรุก การเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการประกอบอาชีพ
3. การใช้บริการผู้ช่วยดูแล (Care Assistant) และเทคโนโลยีในการดูแลสมาชิกในครัวเรือน เพื่อช่วยอำนวยความสะดวก และช่วยสร้างสมดุลระหว่างชีวิตครอบครัวและการทำงานให้กับวัยแรงงาน
4. การสนับสนุนศูนย์ดูแลเด็กและผู้สูงอายุ โดยปรับปรุงศูนย์พัฒนาเด็กและศูนย์บริการผู้สูงอายุของภาครัฐ หรือสนับสนุนภาคธุรกิจให้ดำเนินกิจการ โดยอาจให้สิทธิประโยชน์ทางกฎหมาย เพื่อกระตุ้นให้เกิดขยายตัวของธุรกิจรับดูแลในพื้นที่เดียวกัน