BAY มองกรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ 36.30-36.90 ย่ำฐานรอปัจจัยใหม่ จับตาดัชนี PCE สหรัฐ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 27, 2024 13:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ประเมินทิศทางเงินบาทในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 36.30-36.90 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 36.68 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 35.85-36.75 บาท/ดอลลาร์ โดยระหว่างสัปดาห์เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 2 เดือน และผันผวนตามราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังรายงานประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เมื่อวันที่ 30 เม.ย.-1 พ.ค. บ่งชี้ว่าเจ้าหน้าที่เฟดผิดหวังกับข้อมูลอัตราเงินเฟ้อในระยะนี้ สะท้อนแนวโน้มที่เฟดอาจจะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูงต่อไป ยิ่งไปกว่านั้น เฟดหารือกันเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการปรับขึ้นดอกเบี้ยด้วย นอกจากนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและภาคบริการเดือน พ.ค.ของสหรัฐฯ พุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดในรอบกว่า 2 ปี ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ตลาดตอบรับอย่างจำกัดต่อมาตรการสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทย 4,894 ล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตรสุทธิ 7,724 ล้านบาท

สถานการณ์ตลาดในสัปดาห์นี้ นักลงทุนจะให้ความสนใจกับเงินเฟ้อ PCE เดือน เม.ย.ของสหรัฐฯ รวมถึงการกล่าวสุนทรพจน์ของประธานเฟดสาขานิวยอร์ค ทั้งนี้ หลังจากสหรัฐฯ เปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อ CPI เมื่อช่วงต้นเดือนนี้ ตลาดคลายกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่ว่าเงินเฟ้อจะกลับเป็นขาขึ้นอีกครั้ง อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณว่าจะต้องเห็นข้อมูลเงินเฟ้อที่ย่อตัวลงเป็นเวลาหลายเดือนก่อนจะตัดสินใจลดดอกเบี้ย ยกเว้นว่าการจ้างงานจะชะลอตัวลงอย่างมาก ขณะที่สัญญาตลาดล่วงหน้าสะท้อนว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยเพียงครั้งเดียวในปีนี้ ในภาวะเช่นนี้ เราประเมินว่าในระยะสั้นค่าเงินอาจแกว่งตัวออกด้านข้างเพื่อรอประเด็นชี้นำใหม่

ส่วนปัจจัยในประเทศ กระทรวงพาณิชย์รายงานมูลค่าส่งออกเดือน เม.ย.ขยายตัว 6.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ยอดนำเข้าเพิ่มขึ้น 8.3% ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 1.64 พันล้านดอลลาร์ ทางด้านสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ปรับลดคาดการณ์จีดีพีปี 67 เหลือเติบโต 2.0-3.0% จากเดิมคาดว่าจะขยายตัว 2.2-3.2% แม้เศรษฐกิจไตรมาสแรกเติบโต 1.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ อนึ่ง เรามองว่ามีโอกาสสูงขึ้นที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ตลอดปีนี้ ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไม่ได้เปลี่ยนไปจากมุมมองของ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อย่างมีนัยสำคัญ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ