นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการและแนวทางการตรวจลงตรา เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ เช่น
- การให้สิทธิยกเว้นการตรวจลงตรา สามารถพำนักในประเทศไทยไม่เกิน 60 วัน
- เพิ่มการตรวจลงตราประเภทใหม่ หรือ Destination Thailand Visa
- ปรับปรุงสิทธิสำหรับนักศึกษาต่างชาติที่เข้ามาเรียนในระดับปริญญาตรีขึ้นไป โดยขยายเวลาพำนักในประเทศไทยหลังการศึกษา 1 ปี
- ปรับปรุงและเงื่อนไขการรับการตรวจลงตราประเภทอยู่ชั่วคราว พำนักระยะยาว หรือ Long Stay สำหรับผู้มีอายุมากที่ประสงค์ใช้ชีวิตบั้นปลายในประเทศไทย
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การดำเนินมาตรการเพื่ออำนวยความสะดวกการตรวจลงตรา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของไทย ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ประกอบด้วย
1. มาตรการระยะสั้น (ประกอบด้วย 5 มาตรการ เริ่มใช้ มิ.ย.67) ได้แก่
- การให้สิทธิยกเว้นการตรวจลงตรา สามารถพำนักในประเทศไทยไม่เกิน 60 วัน (ผ.60) จากที่มีประเทศที่ได้รับสิทธิ ผ.30 เดิม 57 ประเทศ/ดินแดน โดยจะเพิ่มประเทศที่ได้รับสิทธิ ผ.30 ใหม่ 36 ประเทศ/ดินแดน รวมเป็น 93 ประเทศ/ดินแดน
- การให้สิทธิ Visa on Arrival (VOA) เพิ่มอีก 12 ประเทศ จากเดิม 19 ประเทศ รวมเพิ่มเป็น 31 ประเทศ
- เพิ่มการตรวจลงตราประเภทใหม่ Destination Thailand Visa (DTV) สำหรับคนต่างด้าวที่มีทักษะ และทำงานทางไกลผ่านระบบดิจิทัล (remote worker หรือ digital nomad) ซึ่งประสงค์จะพำนักในประเทศไทย เพื่อทำงานและท่องเที่ยวไปพร้อมกัน โดยมีนายจ้างและลูกค้าอยู่ในต่างประเทศ
รวมทั้งเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับคนต่างด้าว ที่ต้องการทำกิจกรรมด้านวัฒนธรรม และใช้บริการทางการแพทย์ แต่โดยที่ประเทศไทยยังไม่มีการตรวจลงตราที่รองรับคนต่างด้าวกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่มีศักยภาพ และจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ
- การปรับปรุงสิทธิสำหรับนักศึกษาต่างชาติที่เข้ามาเรียนระดับปริญญาตรีขึ้นไป ที่ได้รับการตรวจลงตรา Non-Immigrant Visa รหัส ED ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกแก่นักศึกษาต่างชาติที่กำลังศึกษา หรือกำลังจะสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย เพื่อดึงดูดผู้ที่มีศักยภาพและทักษะเข้าสู่ตลาดแรงงานของประเทศ
- ควรให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการตรวจลงตรา เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการกำหนดนโยบายการตรวจลงตราของประเทศไทย
2. มาตรการระยะกลาง (ประกอบด้วย 3 มาตรการ เริ่มใช้ ก.ย.-ธ.ค.67) ได้แก่
- จัดกลุ่มและปรับลดรหัสกำกับการตรวจลงตรา ประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant) จากเดิม 17 รหัส เหลือ 7 รหัส โดยจะเริ่มดำเนินการภายในเดือนก.ย.67
- ปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการรับการตรวจลงตรา ประเภทคนอยู่ชั่วคราวพำนักระยะยาว (Long Stay) สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุที่ประสงค์ใช้ชีวิตบั้นปลายในประเทศไทย โดยจะเริ่มดำเนินการภายในเดือนก.ย.67
- ขยายการเปิดให้บริการการตรวจลงตราอิเล็กทรอนิกส์ (e-Visa) ปัจจุบัน กระทรวงการต่างประเทศให้บริการระบบ e-Visa ณ สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ 47 แห่ง จากทั้งหมด 94 แห่ง คิดเป็น 50% โดยจะขยายระบบ e-Visa ให้ครอบคลุมสถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ และสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทยทุกแห่งทั่วโลก ภายในเดือนธ.ค.67
3. มาตรการระยะยาว (เริ่มใช้เต็มรูปแบบ มิ.ย.68)
เป็นการพัฒนาระบบ Electronic Travel Authorization (ETA) สำหรับกลุ่มคนต่างด้าวที่ได้รับสิทธิยกเว้นการตรวจลงตรา เป็นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการคัดกรองคนต่างด้าว โดยการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประโยชน์ที่ได้รับจากมาตรการและแนวทางในครั้งนี้ จะส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศที่นำรูปแบบการอำนวยความสะดวกด้านการตรวจลงตรามาเป็นมาตรการในการดึงดูดนักท่องเที่ยว ดังนี้
- จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้น ผ่านมาตรการยกเว้นการตรวจลงตรา การตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมืองการตรวจลงตราประเภทใหม่ตั้งแต่เดือนมิ.ย.67 ซึ่งอยู่ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวของฝั่งอ่าวไทย เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการบรรลุเป้าหมายรายได้รวมจากนักท่องเที่ยวของรัฐบาล
- กลุ่มต่างชาติที่มีศักยภาพ อาทิ digital nomad และกลุ่มอื่น ๆ สนใจเข้ามาพำนักในประเทศไทย ทั้งเพื่อท่องเที่ยว และใช้เป็นสถานที่ทำงานทางไกล ซึ่งจะสร้างโอกาสให้กลุ่มที่มีศักยภาพเหล่านี้ อาจพิจารณาประกอบธุรกิจในไทยในระยะยาว ส่งผลให้ไทยเป็นศูนย์รวมกลุ่มคนที่มีศักยภาพในด้านต่าง ๆ มาใช้ชีวิตและประกอบธุรกิจในไทย ช่วยสร้างและกระจายรายได้ รวมทั้งจะก่อให้เกิดการจ้างงานและการถ่ายทอดเทคโนโลยีมากขึ้น
- สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษานานาชาติ โดยสถาบันอุดมศึกษาบางแห่ง เริ่มเปิดภาคเรียนในเดือนมิ.ย. จึงส่งผลให้จำนวนนักศึกษาต่างชาติมีความสนใจเข้ามาศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย ในช่วงก่อนเริ่มปีการศึกษา 2567
อย่างไรก็ดี กระทรวงการต่างประเทศ ได้ประมาณการสูญเสียรายได้ และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากมาตรการและแนวทางข้างต้น รวมทั้งสิ้นประมาณ 12,300 ล้านบาทต่อปี แต่ทั้งนี้หากเทียบกับประโยชน์ที่จะได้รับจากรายได้การท่องเที่ยวที่จะเข้ามาเพิ่มขึ้น ถือว่ามีความคุ้มค่า
"เนื่องจากรายได้จากการท่องเที่ยว ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญ ที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้เห็นผลได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งในปี 2567 นี้ รัฐบาลจะเร่งเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวให้ไม่ต่ำกว่า 3 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 8 แสนล้านบาท จากปี 2566 ที่มีรายได้จากการท่องเที่ยว 2.2 ล้านล้านบาท กระทรวงการต่างประเทศ จึงได้รับนโยบายรัฐบาล และกำหนดมาตรการเชิงรุกอย่างเต็มรูปแบบ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในการเดินทางเข้าประเทศไทย" นายชัย กล่าว