ครม. รับทราบผลศึกษาแนวทางขับเคลื่อน Smart Grid ของไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 28, 2024 17:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ครม. รับทราบผลศึกษาแนวทางขับเคลื่อน Smart Grid ของไทย

นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการขับเคลื่อนแผนระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ของประเทศไทยเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ของคณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป

โดยกระทรวงพลังงาน ได้พิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเห็นชอบกับข้อเสนอแนะของกรรมาธิการฯ และสรุปผลการพิจารณาเรื่องดังกล่าว ออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้

ข้อเสนอแนะของ 5 หน่วยงาน ได้แก่

  • สำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้ดำเนินการต่าง ๆ ตามแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของประเทศไทย ระยะปานกลาง โดยได้มีแนวทางในการพัฒนาเทคโนโลยีในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการตอบสนองด้านโหลด (Demaznd Response: DR) และระบบการบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System: EMS) รวมทั้งจะมีการพิจารณานำระบบดิจิทัลมาช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อบริหารจัดการในกิจการไฟฟ้า
  • สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำข้อกำหนดการเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access Code TPA Code: TPA Code)
  • การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ดำเนินการพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) เสร็จแล้ว และมีการพัฒนาระบบการพยากรณ์ให้มีความแม่นยำเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งได้มีแนวคิดที่จะขยายการดำเนินการพยากรณ์ไปยังกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็ก (VSPP) ตั้งแต่ปี 2565
  • การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) อยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนาการเชื่อมต่อข้อมูลจากโครงการ Smart Metro Grid กับ Application เพื่อใช้ในการบริการข้อมูลต่าง ๆ เช่น การให้บริการข้อมูลการใช้ไฟฟ้า 15 นาที ผ่าน Application Smart Life ทั้งปัจจุบันและย้อนหลัง เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าใช้ในการบริหารจัดการค่าไฟฟ้าให้ลดลง แจ้งเตือนไฟฟ้าขัดข้องพร้อมระยะเวลาแก้ไขผ่าน Application Smart Life
  • การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้มีมีความเห็นสอดคล้องกับข้อเสนอของคณะกรรมาธิการการพลังงาน ในประเด็นของการนำข้อมูลสมาร์ทมิเตอร์มาใช้ในการบริหารจัดการค่าไฟฟ้า และเป็นทิศทางที่ กฟภ. อยู่ระหว่างดำเนินการเนื่องจากการดำเนินการของ กฟภ. จะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลัก แต่ประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้ไฟฟ้าจะเป็นการที่ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถบริหารจัดการใช้ไฟฟ้าของตนเองได้ทั้งการลดการไฟฟ้าสูงสุด และลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้า ทำให้เกิดการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในด้านต่าง ๆ จำนวน 5 ด้าน ได้แก่

  • ด้านเศรษฐศาสตร์ การศึกษารูปแบบธุรกิจแนวใหม่ที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาระบบสมาร์ทกริด โดย สนพ. อยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการไฟฟ้า ซึ่งจะได้มีการพิจารณารูปแบบของตลาดซื้อขายไฟฟ้าที่เหมาะสม ภายใต้โครงสร้างกิจการไฟฟ้าของประเทศไทยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป
  • ด้านความมั่นคงของระบบ ควรมีการประกาศเขตระบบโครงข่ายไฟฟ้า เพื่อช่วยให้ กฟภ. สามารถทำงานได้ง่ายขึ้น ควรมีการศึกษาแหล่งพลังงานทางเลือกที่เหมาะสม อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม

โดย สนพ. ได้พัฒนาสมาร์ทกริดภายใต้แผนการขับเคลื่อนฯ ระยะปานกลาง โดยจะมุ่งเน้นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้ระบบไฟฟ้ามีความชาญฉลาด และมีความยืดหยุ่น ให้สามารถรองรับการเข้ามาของพลังงานหมุนเวียนแบบกระจายศูนย์ต่าง ๆ ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานชีวภาพ พลังงานชีวมวล พลังงานขยะได้เพิ่มมากขึ้น

  • ด้านเทคโนโลยี ควรมีนโยบายดึงดูดผู้เชี่ยวชาญ วิศวกร ที่ปรึกษา ด้านสมาร์ทเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัย ส่งเสริมการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน สนับสนุนให้มีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับสมาร์ทกริดในประเทศ โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้พัฒนาต่อยอดด้าน Big Data และ AI จะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง คือ สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (สวข.) ซึ่งจะมีหน้าที่หลักในการพัฒนา Big Data และ AI โดย สวข. สามารถช่วยให้คำปรึกษา การฝึกอบรม และการทำ Prototype เกี่ยวกับ Big Data และ AI ที่จะนำมาใช้ในระบบสมาร์ทกริดได้สำหรับในส่วนของการพัฒนาแพลตฟอร์ม
  • ด้านกฎหมาย กำหนดแนวทางการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติอนุญาตต่าง ๆ ให้เกิดความรวดเร็วต่อการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี โดย สำนักงาน กกพ. อยู่ระหว่างการพิจารณาในการจัดทำใบอนุญาต 1 ใบ ที่สามารถเปิดให้ธุรกิจพลังงานรูปแบบใหม่ๆ เข้ามาดำเนินการภายใต้ใบอนุญาตดังกล่าวได้ ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดปัญหาอุปสรรคในเรื่องของใบอนุญาตสำหรับการดำเนินธุรกิจพลังงานรูปแบบใหม่ ๆ ในอนาคต
  • ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ผลักดันโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) เข้าไปใช้ในพื้นที่เพื่อสร้างความมั่นคง โดย สนพ. จะมีการดำเนินการในทุกภูมิภาคของประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ