ธนาคารออมสิน และบมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) ลงนามร่วมทุนจัดตั้ง บริษัท บริหารสินทรัพย์อารีย์ จำกัด หรือ ARI-AMC เพื่อแก้ปัญหาหนี้ทั้งระบบของรัฐบาล
บริษัท บริหารสินทรัพย์อารีย์ จำกัด จัดตั้งขึ้นด้วยทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท มีสัดส่วนการร่วมทุนเท่ากันที่ 50% และมีระยะเวลาดำเนินการไม่เกินกว่า 15 ปี นับตั้งแต่วันที่เริ่มดำเนินการ โดยดำเนินธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ในระยะแรกจะรับซื้อ และรับโอนหนี้จากธนาคารออมสินเพียงแห่งเดียวก่อน เป็นการรับซื้อหนี้สินเชื่อทั่วไปทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน เป็นกลุ่มลูกหนี้สินเชื่อรายย่อย SMEs รวมถึงหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสดที่มีสถานะ NPLs หนี้สูญ รวมถึง NPA ที่มียอดหนี้ไม่เกิน 20 ล้านบาท ครอบคลุมลูกหนี้ที่ยังไม่ดำเนินคดี และดำเนินคดีแล้วที่ยังมีสิทธิเรียกร้องตามกฎหมาย
ทั้งนี้ บริษัทจะมีการรับซื้อหนี้ในราคายุติธรรม และคำนึงถึงประโยชน์ที่ลูกหนี้จะได้รับสอดคล้องจากความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้แต่ละราย ซึ่งจะมีความยืดหยุ่นและหลากหลาย อาทิ การปรับลดเงินต้น ปรับลดอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่างๆ หรือการตัดหนี้บางส่วนให้กับลูกหนี้ เป็นต้น โดยคาดว่าในช่วงไตรมาส 3/67 จะสามารถเริ่มรับซื้อและรับโอนหนี้จากธนาคารออมสิน และจะมีลูกหนี้ได้รับความช่วยเหลือจำนวนกว่า 500,000 บัญชี หรือคิดเป็นมูลหนี้เงินต้นกว่า 45,000 ล้านบาท
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า การจัดตั้ง ARI-AMC มีวัตถุประสงค์หลักเป็นธุรกิจเพื่อสังคม โดยมีกำไรในระดับที่เหมาะสม เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ ทั้งที่เป็น NPLs และ NPA ได้เข้ากระบวนการปรับโครงสร้างหนี้หรือไกล่เกลี่ยหนี้ มีโอกาสหลุดพ้นจากการเป็นผู้เสียประวัติทางเครดิตได้เร็วขึ้น กลับมาเป็นสถานะหนี้ผ่อนปกติหรือหนี้ปิดบัญชีจะทำให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ในอนาคต และลดการพึ่งพาหนี้นอกระบบได้ ทั้งหมดนี้จะส่งผลดีต่อภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมให้มีเสถียรภาพและช่วยลดปัญหาหนี้ครัวเรือนให้กับประเทศได้อย่างยั่งยืนต่อไป
นายวิทัย คาดว่า ภายใน 1 สัปดาห์นี้จากนี้ จะสามารถจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์อารีย์ได้ โดยจะเป็นขั้นตอนการยื่นขอใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งอาจต้องใช้เวลาพิจารณา 1-2 เดือนจึงจะได้รับใบอนุญาต ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มโอนหนี้ล็อตแรกประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ได้ราวสิ้นเดือนก.ค.
"วันนี้เป็นการลงนาม MOU คาดว่าภายใน 1 สัปดาห์จากนี้ จะจัดตั้งบริษัท และเริ่มขอใบอนุญาต AMC จากแบงก์ชาติ คิดว่าจะใช้เวลา 1-2 เดือน ถึงจะได้ใบอนุญาต และเริ่มโอนหนี้ล็อตแรก ตั้งเป้าไว้ประมาณสิ้น ก.ค. อยู่ที่ 1.4 แสนราย มูลหนี้ราว 1 หมื่นล้านบาท เวลาโอนจะมีทั้ง 3 ส่วน คือ หนี้ไม่มีหลักประกันรายย่อย, หนี้ SME และหนี้บัตรเครดิต ทั้ง 3 ส่วนนี้รวมเข้าไปด้วย" นายวิทัย กล่าว
พร้อมระบุว่า ความร่วมมือกันของธนาคารออมสิน และ BAM ในครั้งนี้ ถือเป็น Social project มีวัตถุประสงค์สำคัญคือ ต้องการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยให้หลุดจากการเป็น NPL ได้เร็วที่สุด กลับเข้ามาสู่ระบบ และมีประวัติที่ดี พร้อมที่จะขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ตามปกติ ทั้งนี้ คาดหวังว่าจะสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียให้สามารถกลับสู่ระบบได้อย่างน้อย 70%
"พยายามเน้นให้ลูกหนี้รายย่อย หลุดออกจากการเป็น NPL ให้เร็วที่สุด พอหลุดได้ ก็จะสามารถกลับเข้าสู่ระบบ ประวัติกลับมาดี และสามารถกลับมาขอกู้สินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ตามปกติ แต่แน่นอนว่า BAM เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาด ดังนั้นต้องไม่ขาดทุน และมีกำไรที่เหมาะสมกับเขา เป็นข้อตกลงกัน เป็นการปรับโครงสร้างหนี้ที่ผ่อนผัน และผ่อนปรนได้มากกว่าในการเรียกเก็บหนี้ของ AMC ปกติ เรามี target return เป้าหมายอยู่แล้ว แต่เป็นความลับทางธุรกิจ เป็นตัวเลขที่ BAM ได้กำไรสมเหตุ สมผล แล้วที่เหลือ จะไปช่วยคนให้สามารถปลดหนี้ได้เร็วขึ้น ลดหนี้ได้มากขึ้น"
พร้อมระบุว่า การโอนหนี้เข้าไปยัง ARI-AMC จะไม่ได้ทำให้ยอด NPL ของธนาคารออมสินลดลงไปมากนัก เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้รายย่อย อีกทั้งไม่ได้เป็นวัตถุประสงค์หลักว่าทำเพื่อให้ NPL ของธนาคารลดลง
"คาดว่าจะทำให้ NPL ไม่ได้ลดลงเยอะ เพราะเป็นรายย่อย การทำคราวนี้ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์หลักในการช่วยให้ NPL ของออมสินลด เพราะถ้าจะไรท์ออฟออกจากบัญชี ก็ลดได้เหมือนกัน ไม่ต้องใช้วิธีการนี้ (AMC) ก็ได้" ผู้อำนวยการธนาคารออมสินกล่าว
สำหรับทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาทนี้ นายวิทัย เชื่อว่าจะเพียงพอสำหรับการบริหารจัดการและช่วยเหลือลูกหนี้ 5 แสนบัญชี ที่เป็นมูลหนี้เงินต้นประมาณ 45,000 ล้านบาทได้ อย่างไรก็ดี หากในอนาคตมีความจำเป็นจะต้องเพิ่มทุน ก็มีความพร้อม เพราะทั้งธนาคารออมสิน และ BAM เป็นสถาบันการเงินขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพพร้อมที่จะเพิ่มทุนได้
นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BAM กล่าวว่า บริษัทร่วมทุนดังกล่าว จัดตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ภาคประชาชนที่กลายเป็นหนี้เสีย ซึ่งได้รับผลกระทบมาจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่ง BAM จะให้การสนับสนุนบริษัทร่วมทุนโดยให้บริการเกี่ยวกับการรับบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่บริษัทร่วมทุนจะรับซื้อ หรือรับโอนจากธนาคารออมสิน ตลอดจนการให้บริการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทร่วมทุน
ทั้งนี้ BAM และธนาคารออมสิน จะร่วมกันวางแผนบริหารกิจการร่วมทุน วางแนวทางในการดำเนินธุรกิจในรูปแบบต่าง ๆ อย่างดีที่สุด มุ่งมั่นช่วยเหลือลูกหนี้ที่สุจริตให้ผ่านพ้นปัญหาหนี้สินไปได้อย่างราบรื่น ซึ่งจะส่งผลให้หนี้เสียได้รับการแก้ไขให้กลายเป็นหนี้ดีกลับคืนสู่ระบบเศรษฐกิจปกติต่อไป
"เชื่อมั่นว่า บริษัทบริหารสินทรัพย์อารีย์ จะสามารถตอบโจทย์การเป็นธุรกิจเพื่อสังคม โดยที่ยังสามารถบริหารจัดการให้ได้รับผลตอบแทนที่ดี ช่วยแก้ไขหนี้ภาคครัวเรือน รวมถึงสามารถจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ให้รองรับการดำเนินงานตามพันธกิจ และนโยบายของภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ" นายบัณฑิต ระบุ