แบงก์ชาติ ห่วงตั้งงบฯ เพิ่ม กระทบหนี้สาธารณะ รมว.คลัง น้อมรับคำเตือน เชื่อดูแลได้

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 29, 2024 14:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แบงก์ชาติ ห่วงตั้งงบฯ เพิ่ม กระทบหนี้สาธารณะ รมว.คลัง น้อมรับคำเตือน เชื่อดูแลได้

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวถึงกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แสดงความกังวล หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบปรับแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568-2571) โดยมีการเพิ่มกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ปี 2567 อีก 1.22 แสนล้านบาท ซึ่งอาจกระทบต่อเสถียรภาพการคลัง และการจัดการกับความเสี่ยงทางการคลังที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะหนี้สาธารณะที่ใกล้จะเต็มเพดานที่ 70% และภาระดอกเบี้ยภาครัฐที่เพิ่มขึ้น รวมถึงจะทำให้ไม่มีช่องในการรับมือหากเกิดวิกฤติ ว่า มองว่าเป็นคำเตือนที่ดี และพร้อมที่จะรับไปพิจารณาอย่างละเอียด

"ก็ต้องเทียบระหว่างว่าไม่ทำอะไรเลย กับทำบ้าง อันไหนจะได้ผลดีกว่า หากไม่ทำอะไรเลย เงินคงคลังคงไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แต่หากทำบ้างแล้ว ผลอื่นๆ จะได้เป็นอย่างไร ก็ยอมรับว่าเป็นคำเตือนที่ดี เราพร้อมจะรับไปดูอย่างละเอียด โดยเฉพาะในแง่ของเงินคงคลัง และเสถียรภาพด้านการคลัง แต่ไม่ได้รู้สึกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อหนี้สาธารณะว่าจะชนเพดานที่ 70% โดยระดับหนี้สาธารณะในปัจจุบัน ยังอยู่ในเกณฑ์ที่บริหารจัดการได้ในกรอบ 4-5 ปีข้างหน้า" นายพิชัย ระบุ

ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง พร้อมรับฟังข้อห่วงใยจาก ธปท.เช่นกัน โดยยืนยันว่า รัฐบาลดำเนินการทุกอย่างภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง ไม่ใช่แค่ปัจจุบัน หรือหลังมีการจัดทำงบประมาณเพิ่มเติม ปี 2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท เพื่อรองรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยมองไประยะข้างหน้า ก็ยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังอย่างแน่นอน ซึ่งเสถียภาพการคลัง ไม่ได้อยู่ในจุดที่สุ่มเสี่ยงสำหรับรัฐบาลในการบริหารจัดการ

"เรื่องพื้นที่ทางการคลังนั้น ในการประชุมคณะทำงานด้านเศรษฐกิจที่ผ่านมา ทุกคนรวมถึง ธปท. เห็นตรงกันว่าตัวเลขเศรษฐกิจไทยมีความน่าเป็นห่วง และในข้อเท็จจริง กลไกในการบริหารจัดการก็มีที่สามารถดำเนินการได้อยู่แล้ว ไม่ว่าพื้นที่ทางการคลังจะมีเท่าไร แต่การปล่อยให้เศรษฐกิจดำดิ่งไปกว่านี้ คงไม่ได้ ดังนั้นก็ต้องมาดูว่าการเก็บพื้นที่ทางการคลังไว้ โดยไม่ใช้ หรือใช้ 1.22 แสนล้านบาทเลยเพื่อประคับประคองให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่ให้เศรษฐกิจพังไปกว่านี้ อะไรจะเหมาะสมมากกว่ากัน" นายจุลพันธ์ กล่าว

พร้อมระบุว่า ในการประชุมคณะทำงานด้านเศรษฐกิจที่ผ่านมา ได้มีการมอบหมายให้ทุกส่วนงานด้านเศรษฐกิจ กลับไปพิจารณาแผนระยะสั้น และระยะยาว ว่าจะดำเนินการอย่างไรเพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียน โดยทุกคนเข้าใจดีว่าการกระตุ้นจริง ๆ จะเกิดขึ้นช่วงปลายปีจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แต่ก่อนหน้าที่จะเกิดโครงการดังกล่าว รัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งเฉย จะต้องมีกลไกหรือมีนโยบายที่แต่ละส่วนงานกำกับออกมาขับเคลื่อน และประคองให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนได้

* พร้อมหารือฟื้น LTF

นายพิชัย กล่าวด้วยว่า เร็ว ๆ นี้กระทรวงการคลังจะหารือร่วมกับสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ถึงแนวทางและหลักเกณฑ์ในการฟื้นกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เพื่อกระตุ้นให้ตลาดหุ้นไทยกลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยหากทาง FETCO พร้อมก็สามารถนัดมาได้ทันที เพราะกระทรวงการคลังมีความพร้อมอยู่แล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ