ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยเดือนเม.ย.โดยรวมปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน ตามภาคบริการที่ขยายตัว สอดคล้องกับรายรับภาคการท่องเที่ยวและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น หลังเทศกาลถือศีลอดในช่วงเดือนรอมฎอนสิ้นสุดลง
นอกจากนี้ อุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้นหลังจากลดลงในเดือนก่อน สำหรับการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำเพิ่มขึ้นในหลายหมวดสินค้า สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายภาครัฐยังคงหดตัวจากรายจ่ายของรัฐบาลกลางตาม พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า ขณะที่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวสูงตามการเร่งเบิกจ่าย ในโครงการลงทุนด้านสาธารณูปโภคเป็นสำคัญ
เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับมาเป็นบวกจากหมวดอาหารสดตามราคาผักและเนื้อสุกร และจากหมวดพลังงานที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลจากผลของมาตรการลดภาษีสรรพสามิตที่สิ้นสุดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวเท่าเดือนก่อน สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดค่อนข้างสมดุลโดยดุลการค้าเกินดุล ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุล ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อยจากการจ้างงานในภาคบริการเป็นสำคัญ
นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธปท. ระบุว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ และรายรับภาคการท่องเที่ยวที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามนักท่องเที่ยวชาวมุสลิม หลังออกจากเทศกาลถือศีลอดในช่วงเดือนรอมฎอน โดยเฉพาะจากมาเลเซีย และตะวันออกกลาง ประกอบกับนักท่องเที่ยวจีน และรัสเซีย ปรับเพิ่มขึ้นหลังลดลงในเดือนก่อน
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในทุกหมวดหลัก หลังชะลอลงในช่วงก่อนหน้า โดยการใช้จ่ายหมวดบริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามภาคการท่องเที่ยว ด้านหมวดสินค้าไม่คงทนปรับเพิ่มขึ้น ตามยอดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค สำหรับหมวดสินค้าคงทนปรับเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งจากการส่งมอบรถยนต์ที่สั่งจองในงานจัดแสดงรถยนต์ (Motor Show) อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลในประเด็นเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้า และค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันในประเทศ
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์เพิ่มขึ้นตามการยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศ และยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ ขณะที่การนำเข้าสินค้าทุนปรับลดลงจากหมวดคอมพิวเตอร์เป็นหลัก ด้านการลงทุนในหมวดก่อสร้าง ปรับเพิ่มขึ้นตามยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างและพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง โดยเฉพาะพื้นที่เพื่อการอุตสาหกรรมและโรงงาน และเพื่อที่อยู่อาศัย
ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ 1) หมวดยานยนต์ ตามการผลิตรถยนต์เพื่อส่งออก ทั้งนี้ แม้การผลิตรถยนต์จะปรับดีขึ้น แต่โดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำ 2) หมวดอาหารและเครื่องดื่ม จากน้ำตาล น้ำมันปาล์ม และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สอดคล้องกับกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้น และ 3) หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศจากอุปสงค์ในประเทศที่สภาพอากาศร้อนกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม การผลิตหมวดปิโตรเลียมปรับลดลงจากเดือนก่อน สอดคล้องกับการส่งออกที่ลดลง
มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในหลายหมวด โดยเฉพาะ 1) อิเล็กทรอนิกส์ ตามการส่งออกชิ้นส่วนและอุปกรณ์สื่อสารไปสหรัฐฯ และฮ่องกงเป็นสำคัญ 2) ยานยนต์ ตามการส่งออกรถกระบะไปอาเซียนและออสเตรเลีย และรถยนต์นั่งไปอาเซียน และ 3) สินค้าเกษตร ตามการส่งออกทุเรียนไปจีน อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าในบางหมวดปรับลดลงจากเดือนก่อน อาทิ หมวดปิโตรเลียม และเคมีภัณฑ์และปิโตรเคมี
มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำ ที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว ลดลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะ 1) เชื้อเพลิง ตามการนำเข้าน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ 2) วัตถุดิบขั้นกลางที่ไม่รวมเชื้อเพลิง ตามการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หลังจากเร่งไปมากในช่วงก่อน รวมถึงการนำเข้าเคมีภัณฑ์และปิโตรเคมี และ 3) สินค้าทุนไม่รวมเครื่องบิน ตามการนำเข้าคอมพิวเตอร์หลังเร่งไปมากในเดือนก่อน
อย่างไรก็ดี การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคปรับเพิ่มขึ้น จากการนำเข้ารถยนต์เพื่อจัดแสดง และจำหน่ายในงานมอเตอร์โชว์ และจากหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นสำคัญ
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอน หดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายประจำ และรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางที่หดตัวสูงตาม พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ขยายตัวสูงตามการเร่งเบิกจ่ายในโครงการด้านสาธารณูปโภค
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับมาเป็นบวก จากหมวดอาหารสดตามราคาผักที่ผลผลิตลดลง จากสภาพอากาศที่ร้อน และเนื้อสุกรที่อุปทานลดลง และจากหมวดพลังงานที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันเบนซินและดีเซล จากผลของมาตรการลดภาษีสรรพสามิตที่สิ้นสุดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวเท่าเดือนก่อน ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากการจ้างงานในภาคบริการ
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดค่อนข้างสมดุล โดยดุลการค้าเกินดุล ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุล ด้านการระดมทุนของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นในทุกช่องทาง โดยการระดมทุนผ่านตราสารหนี้เพิ่มขึ้นจากธุรกิจพลังงานเป็นสำคัญ ด้านสินเชื่อเพิ่มขึ้นจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเป็นหลัก และการระดมทุนผ่านตลาดทุนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากธุรกิจในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค การเงิน อสังหาริมทรัพย์ และก่อสร้าง
สำหรับอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ เฉลี่ยอ่อนค่าลง เนื่องจากปัจจัยด้านต่างประเทศเป็นหลัก จากการที่ตลาดเลื่อนการคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ออกไป และมีความกังวลต่อสถานการณ์ในตะวันออกกลางที่อาจยกระดับความรุนแรง