นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การเงินและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง กล่าวว่า ฐานะการคลังมีความเสี่ยงเพิ่ม จากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำกว่าเป้าหมายมาก ความไม่แน่นอนทางการเมืองเพิ่มสูงขึ้น จำเป็นต้องก่อหนี้เพื่อใช้ในการบริหารและพัฒนาประเทศ แก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม
ทั้งนี้ หากสามารถกำกับดูแลสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีไม่เกิน 70% ภาระหนี้ของรัฐบาล และภาระผูกพันมาตรการกึ่งการคลังสะสมไม่เกินเกณฑ์วินัยการเงินการคลัง สัดส่วนหนี้สาธารณะสกุลเงินต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมดอยู่ที่ 1.42% (เพดานอยู่ที่ไม่เกิน 10%) สัดส่วนหนี้สาธารณะสกุลเงินต่างประเทศต่อรายได้จากส่งออกสินค้าและบริการอยู่ 0.05% (ไม่เกินเพดาน 5%) และยังสามารถจัดสรรเงินงบประมาณชำระหนี้คืนต้นเงินกู้ในแต่ละปีงบประมาณรายจ่ายไม่น้อยกว่า 2.5%-4% เมื่อพิจาณาเกณฑ์เพดานกำกับบริหารหนี้สาธารณะต่างๆแล้ว ขณะนี้ ประเทศไทยยังห่างไกลความเสี่ยงในการถูกปรับลดอันดับเครดิตความน่าเชื่อถือของประเทศ และความเสี่ยงนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้
"การที่ประเทศไทย จะยังไม่ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือในอนาคตอันใกล้ หากพิจารณาจากสถานะทางการคลังการเงินของประเทศยังอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ ความสามารถในการชำระหนี้ของประเทศยังอยู่ในระดับสูง ประเทศไทยมีสัดส่วนหนี้สินต่างประเทศต่ำมาก ทุนสำรองระหว่างประเทศต่อมูลค่านำเข้าอยู่ในระดับสูงถึง 7-8 เดือน รัฐบาลสามารถระดมทุนในประเทศได้ หนี้ภาครัฐส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาวในรูปสกุลเงินบาท การถือพันธบัตรรัฐบาล และตราสารหนี้ของไทยยังมีความปลอดภัย" นายอนุสรณ์ กล่าว
โดยล่าสุด Fitch Ratings ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+ และมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) ส่วน Moody?s ก็ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของไทยไว้ที่ Baa1 (เทียบเท่า BBB+) และคงมุมมองในระดับมีเสถียรภาพ โดย Moody?s เชื่อมั่นว่า ในระยะปานกลาง รัฐบาลจะสามารถบริหารจัดการหนี้สาธารณะให้อยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ และ สามารถดำเนินนโยบายการคลังแบบระมัดระวังเพิ่มขึ้นได้
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า เนื่องจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยต่ำกว่าเป้าหมายมาก ศักยภาพการผลิตและความสามารถในการแข่งขันถดถอยในภาคส่งออก ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวไม่เพียงพอต่อการชดเชยการติดลบของภาคส่งออก การก่อหนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมีความสำคัญ แต่การก่อหนี้ในภาวะเศรษฐกิจโตต่ำอันเป็นผลจากปัญหาในเชิงโครงสร้าง จึงต้องก่อหนี้เพื่อลงทุนปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ผ่านการลงทุนเพื่อรายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้นระยะยาว และระยะปานกลาง
การผลักดันการเลื่อนชั้นรายได้แรงงานในระบบให้เป็นฐานภาษีเพิ่มขึ้นของรัฐเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ แผนการคลังระยะปานกลาง ต้องให้สำคัญกับการปฏิรูปรายได้ภาครัฐด้วยการขยายฐานภาษีทรัพย์สิน การยุบหรือแปรรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อลดภาระทางการคลังในกิจการที่ไม่มีความจำเป็นที่รัฐต้องให้บริการ หรือปล่อยให้เอกชนหรือกลไกตลาดทำงานจะดีกว่า พัฒนาและปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่มีการขาดทุนสูงและขาดประสิทธิภาพในการดำเนินการให้กลับมาเป็นแหล่งรายได้ของภาครัฐ โดยเฉพาะการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)
นอกจากนี้ รัฐบาลควรเพิ่มการนำกำไรส่งคลังของรัฐวิสาหกิจ และกิจการที่กระทรวงการคลังถือหุ้นต่ำกว่า 50% โดยปีงบประมาณ 66 มีเป้าหมายส่งรายได้เข้าคลังประมาณ 1.49 แสนล้านบาท จะต้องเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10% ในปี 67 และ 68 หรืออย่างน้อยปีละ 1.8 แสนล้านบาท ในระยะ 5 ปีข้างหน้า
ขณะเดียวกัน การเลื่อนชั้นรายได้แรงงานให้สูงขึ้นอาจไม่เพียงพอ จึงต้องดำเนินการปฏิรูปรายได้ภาครัฐ และสร้างฐานภาษีใหม่ในแผนการคลังระยะปานกลางด้วย การสร้างฐานภาษีใหม่ นอกจากเพิ่มแหล่งรายได้ภาษีของรัฐแล้ว ยังต้องตั้งเป้าเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจอีกด้วย