สรท. คงเป้าส่งออกทั้งปีโต 1-2% แม้เม.ย.พลิกบวก กังวลค่าระวางเรือสูงกระทบต้นทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 4, 2024 11:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือ สภาผู้ส่งออก คงคาดการณ์การส่งออกไทยปี 67 ขยายตัวที่ 1-2% แม้ภาวะการส่งออกในเดือนเม.ย.ของไทย จะพลิกกลับมาโต 6.8% หนุนให้ 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.) การส่งออกขยายตัวได้ 1.4%

"ขณะนี้ยังคงเป้าส่งออกทั้งปีที่ 1-2% มั่นใจว่าสินค้าไทยยังมีความต้องการ ทั้งสินค้าเกษตร รถยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ โดยยังมองเห็นโอกาสในการขับเคลื่อนจากสินค้าเหล่านี้ ภายใต้สมมติฐานที่ถ้าไม่มีปัจจัยภายนอกที่รุนแรง และขยายวงไปมากกว่านี้" นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสรท. กล่าว

อย่างไรก็ตาม มองว่าในช่วงครึ่งปีหลัง 67 ยังมีปัจจัยเฝ้าระวังสำคัญ ได้แก่

1. ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และการตั้งกำแพงภาษีการค้า โดยเฉพาะระหว่าง จีน-สหรัฐฯ ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อภาคการส่งออกอย่างต่อเนื่อง

2. ความกังวลเรื่องต้นทุนภาคการผลิต อาทิ

  • ค่าแรงขั้นต่ำที่อยู่ระหว่างพิจารณาปรับขึ้น
  • ต้นทุนพลังงาน อาทิ น้ำมัน และไฟฟ้า
  • ค่าระวางเรือ (Freight) และค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม (Surcharge) ปรับสูงขึ้นทุกเส้นทาง การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์จากการเร่งผลิตและส่งออกของจีน กระทบต้นทุน และระยะเวลาการดำเนินการ
"ค่าระวางช่วงปลายเดือนเม.ย. เพิ่มสูงขึ้นทุกเส้นทางถึง 30-40% จากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และจากการที่จีนเร่งผลักดันส่งออกสินค้าจีนไปสหรัฐฯ ก่อนการเลือกตั้งสหรัฐฯ โดยคาดว่าค่าระวางจะยังคงตัวในระดับสูงถึงปลายปี 67 อย่างไรก็ดี มั่นใจว่าค่าระวางจะไม่สูงเท่าระดับช่วงโควิด-19 แต่ตอนนี้ขึ้นไปสูงกว่าที่มีปัญหาที่ทะเลแดงระลอกแรกเมื่อปลายปี 66 ถึงม.ค. 67 แล้ว ซึ่งต้องมีการวางแผนล่วงหน้าเพื่อรับวิกฤติต่อไป" นายชัยชาญ กล่าว

3. ผู้ส่งออกกลุ่ม SMEs เริ่มประสบปัญหาเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการผลิตเพื่อการส่งออก

4. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากปรากฏการณ์เอลนีโญไปสู่ปรากฏการณ์ลานีญา ทำให้มีความเสี่ยงต่อผลผลิตภาคการเกษตร

*ขอรัฐดูแลปัญหาค่าระวางเรือพุ่งสูง

ด้านนายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหารสรท. กล่าวว่า จากปัญหาเรื่องค่าระวางเรือที่พุ่งสูงนั้น อาจต้องมีการพูดคุยกับกระทรวงพาณิชย์ว่า ต้องมีมาตรการเชิงบริหารเรื่องค่าระวางเรือที่สูงกว่าปีก่อนเกือบเท่าตัว และปริมาณตู้ที่ไม่เพียงพอ ซึ่งกระทบต้นทุนผู้ส่งออก อย่างไรก็ดี เดือนหน้าอาจมีการพิจารณาประเมินการส่งออกของทั้งปี 67 อีกครั้งว่า จะยังคงอยู่ที่ 1-2% หรือไม่

"อยากให้ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ. พาณิชย์) มีการพูดคุยในประเด็นค่าระวางที่พุ่งสูงจากปัญหาทะเลแดง นอกจากนี้ อยากให้มีการพูดคุยเรื่องการควบคุมติดตามค่าระวาง ตรวจสอบ และทำเป็นดัชนีเหมือนดัชนีค่าระวางเรือคอนเทนเนอร์เซี่ยงไฮ้ โดยให้ภาครัฐของไทยเป็นผู้เก็บข้อมูล ไม่ใช่เอกชน" นายคงฤทธิ์ กล่าว

ทั้งนี้ สรท. มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ดังนี้

1. รัฐบาลต้องกำกับดูแลต้นทุนการผลิตเพื่อการส่งออก อาทิ ต้นทุนพลังงาน ค่าไฟฟ้า ค่าจ้างขั้นต่ำ และค่าขนส่งสินค้า ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

2. ผู้ส่งออกต้องวางแผนการขนส่ง โดยการจองระวางล่วงหน้า รวมถึงการเจรจากับคู่ค้า เพื่อปรับอัตราค่าขนส่งให้สอดคล้องกับค่าระวางในตลาดที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก รวมถึงต้องบริหารจัดการสต็อกสินค้าให้เหมาะสม

3. รัฐบาลต้องบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนผ่านจากปรากฏการณ์เอลนีโญไปสู่ลานีญา

4. รัฐบาลต้องสนับสนุนแหล่งเงินทุนให้กับ SMEs ให้เพียงพอต่อการหมุนเวียนกระแสเงินสด และการผลิตเพื่อการส่งออก

5. รัฐบาลต้องพิจารณาปรับปรุงและเพิ่มโควตาการนำเข้าวัตถุดิบทางการเกษตรเพื่อการผลิตเพื่อการส่งออก อาทิ กาแฟ มะพร้าว

6. รัฐบาลต้องเสริมสร้างภาพลักษณ์สินค้าไทยให้ครอบคลุมทุกกลุ่มสินค้า และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง


แท็ก การส่งออก  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ