เงินเฟ้อไทย พ.ค. เพิ่มขึ้น 1.54% จากปัจจัยชั่วคราว ฐานค่าไฟปีก่อนต่ำ-ราคาน้ำมัน อาหารสดสูงขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 7, 2024 11:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เงินเฟ้อไทย พ.ค. เพิ่มขึ้น 1.54% จากปัจจัยชั่วคราว ฐานค่าไฟปีก่อนต่ำ-ราคาน้ำมัน อาหารสดสูงขึ้น

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อ เดือนพ.ค.อยู่ที่ระดับ 108.84 หรือเพิ่มขึ้น 1.54% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปัจจัยชั่วคราว จากฐานราคาที่ต่ำของค่ากระแสไฟฟ้าปีก่อนต่ำ รวมทั้งการสูงขึ้นของราคาในกลุ่มพลังงาน ได้แก่ กลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์ ประกอบกับการสูงขึ้นของราคากลุ่มอาหารสด ผักสด และไข่ไก่ ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.) ยังติดลบ 0.13%

เงินเฟ้อไทย พ.ค. เพิ่มขึ้น 1.54% จากปัจจัยชั่วคราว ฐานค่าไฟปีก่อนต่ำ-ราคาน้ำมัน อาหารสดสูงขึ้น

ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ในเดือนพ.ค.67 อยู่ที่ระดับ 104.74 เพิ่มขึ้น 0.39% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ Core CPI เฉลี่ย 5 เดือนแรกปีนี้ เพิ่มขึ้น 0.42%

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อเดือนพ.ค.67 ถือเป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุด ในรอบ 13 เดือน

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สนค. ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเดือนเมษายน 2567 พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ จากการรายงานล่าสุดในเดือนเม.ย. ที่เพิ่มขึ้น 0.19% นั้น เงินเฟ้อไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 6 จาก 129 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และอยู่ในระดับต่ำสุดในอาเซียน จาก 7 ประเทศ ที่ประกาศตัวเลข (ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย)

เงินเฟ้อไทย พ.ค. เพิ่มขึ้น 1.54% จากปัจจัยชั่วคราว ฐานค่าไฟปีก่อนต่ำ-ราคาน้ำมัน อาหารสดสูงขึ้น
*แนวโน้มเดือน มิ.ย. คาดอยู่ในช่วง 1.0-1.1%

สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อในเดือนมิ.ย.นั้น สนค. ประเมินว่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนมิ.ย.จะเพิ่มขึ้น 1.0-1.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุสำคัญจาก

1. ผลกระทบจากฐานราคาต่ำของค่ากระแสไฟฟ้าลดลง

2. การต่ออายุมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าของครัวเรือน อีก 4 เดือน (พ.ค.-ส.ค.67)

3. ราคาพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะผักสดมีแนวโน้มลดลง หลังสิ้นสุดสภาพอากาศร้อนจัด และเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ

4. การเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ระดับต่ำ ทำให้ผู้ประกอบการมีข้อจำกัดในการส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาขาย รวมทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่มีการทำโปรโมชันส่งเสริมการขาย

ขณะที่ยังมีปัจจัยที่ทำให้ราคาสินค้าบางชนิดยังอยู่ในระดับสูง ได้แก่

1. ราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศ ซึ่งปรับมาอยู่ที่ 33 บาท/ลิตร ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน

2. ความไม่แน่นอนจากผลกระทบของความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ อาจทำให้ราคาน้ำมันและค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้นได้ ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าปรับตัวสูงขึ้นตาม

"ปัจจัยกดดันเงินเฟ้อ ยังคงต้องดูสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส เพราะถ้าการขนส่งสินค้า (ทางเรือ) ยังต้องไปอ้อมแหลมกู๊ดโฮป ก็จะมีผลต่อค่าระวางเรือ รวมทั้งต้องดูปัจจัยเรื่องสภาพอากาศด้วย ที่ตอนนี้เปลี่ยนจากเอลนีโญ เข้าสู่ลานีญา ต้องติดตาม" ผู้อำนวยการ สนค.ระบุ
*คงคาดการณ์ทั้งปีที่ 0.0-1.0%

อย่างไรก็ คาดว่าในช่วงครึ่งปีแรก เงินเฟ้อทั่วไปจะเพิ่มขึ้นราว 0.9-1% และเมื่อดูภาพรวมทั้งปีแล้ว เงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ไม่เกิน 1% ตามเป้าที่เคยคาดไว้ ซึ่งอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการคาดการณ์ของหลายหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ

"เดือนหน้า (มิ.ย.) เราคาดไว้ว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1-1.1% น่าจะน้อยกว่าเดือนพ.ค. เพราะค่าไฟเดือนพ.ค.ปีก่อน มีมาตรการช่วยเหลือค่อนข้างเยอะ และผักสด คิดว่าเดือนมิ.ย.เข้าหน้าฝนแล้ว ราคาน่าจะปรับลดลงจากผลผลิตที่มากขึ้น" นายพูนพงษ์ กล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ยังคงประมาณการเงินเฟ้อทั้งปี 67 ไว้ตามเดิมที่ 0.0-1.0% ภายใต้ 3 สมมติฐานสำคัญ คือ 1. อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ขยายตัว 2.2-3.2% 2. ราคาน้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ยที่ 80-90 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล และ 3. อัตราแลกเปลี่ยน เฉลี่ยทั้งปีที่ 34.50-36.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนกรณีมีข่าวว่ารัฐบาลอาจจะขยับการตรึงราคาน้ำมันดีเซล ขึ้นไปที่ลิตรละ 35 บาทนั้น นายพูนพงษ์ ระบุว่า ราคาพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันเบนซิน ดีเซล แก๊สโซฮอล์ มีผลโดยตรงให้เงินเฟ้อสูงขึ้น เนื่องจากสินค้ากลุ่มพลังงาน มีสัดส่วนถึง 9% ในการคำนวณอัตราเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี คงต้องรอความชัดเจนจากภาครัฐก่อน ว่าสุดท้ายแล้วจะขยับการตรึงราคาดีเซลขึ้นไปที่ระดับใด

"น้ำมันเบนซิน ดีเซล โซฮอลล์ มีสัดส่วนในตะกร้าเงินเฟ้อ 9% ค่อนข้างเยอะ มีผลต่อเงินเฟ้อ...ต้องรอดู เพราะตอนนี้ยังอยู่ที่ 33 บาท/ลิตร รอดูข้อเท็จจริงอีกนิด" นายพูนพงษ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ