ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) มองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทสัปดาห์ถัดไป (10-14 มิ.ย.) ที่ระดับ 36.20-36.80 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมนโยบายการเงิน ตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ และ dot plot ของเฟด (11-12 มิ.ย.) ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และสัญญาณดอกเบี้ยของไทย (12 มิ.ย.) และผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) (13-14 มิ.ย.) ตลอดจนทิศทางเงินทุนต่างชาติ
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค และดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนพ.ค.ของจีนและสหรัฐฯ รวมถึงตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิ.ย. ของสหรัฐฯ
ทั้งนี้ ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (4-7 มิ.ย.) เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 2 สัปดาห์ ที่ 36.33 บาท/ดอลลาร์ฯ ก่อนจะอ่อนค่ากลับมาบางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ สอดคล้องกับทิศทางของสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงตามทิศทางบอนด์ยีลด์ของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลงต่อเนื่อง หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาอ่อนแอกว่าที่ตลาดคาด อาทิ ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ที่ปรับตัวลงมาที่ระดับ 8.06 ล้านตำแหน่ง ในเดือนเม.ย. (ต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปี)
อย่างไรก็ดี เงินบาทกลับไปอ่อนค่าลงบางส่วนช่วงสั้น ๆ กลางสัปดาห์ ท่ามกลางกระแสข่าวเกี่ยวกับรัฐบาล และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่ก็พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากข้อมูลจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นกว่าที่ตลาดคาด จำกัดกรอบการฟื้นตัวของเงินดอลลาร์ฯ ไว้
ทั้งนี้ เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 2 สัปดาห์ที่ 36.33 บาท/ดอลลาร์ฯ ก่อนจะลดช่วงบวกลง ตามการร่วงลงของราคาทองคำในตลาดโลก ประกอบกับน่าจะมีแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ เพื่อปรับโพสิชัน เพื่อรอติดตามผลการประชุมนโยบายการเงินของเฟด (11-12 มิ.ย.) กนง. (12 มิ.ย.) และ BOJ (13-14 มิ.ย.)
ทั้งนี้ ในวันศุกร์ที่ 7 มิ.ย. 67 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ระดับ 36.51 บาท/ดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 36.79 บาท/ดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (31 พ.ค. 67)