BAY คาดกรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ 36.50-37.20 จับตาเงินเฟ้อสหรัฐ-ประชุมเฟด-กนง.-BOJ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 10, 2024 12:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ประเมินเงินบาทในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 36.50-37.20 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 36.51 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 36.32-36.70 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ยกเว้นเงินเยนและฟรังก์สวิสในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยในช่วงแรกอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยิลด์) สหรัฐฯ ลดลงตามข้อมูลที่สร้างความหวังว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯอาจลดความร้อนแรง ทางด้านธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 5 ปี จากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 4.00% สู่ 3.75% โดยระบุถึงความคืบหน้าในการดูแลเงินเฟ้อ แม้อีซีบียอมรับว่าแรงกดดันด้านราคาอาจจะสูงเกินเป้าหมายไปอีกหนึ่งปี และผู้กำหนดนโยบายไม่ส่งสัญญาณใด ๆ เกี่ยวกับการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 18 ก.ค. โดยอีซีบีมองว่ามีโอกาสน้อยสำหรับการลดดอกเบี้ยลงอีกในเดือนหน้า หลังข้อมูลค่าจ้างและเงินเฟ้อในภาคบริการออกมาแข็งแกร่งกว่าคาด โดยจุดสนใจของตลาดอยู่ที่การประชุมอีซีบีเดือนก.ย. อนึ่งบอนด์ยิลด์สหรัฐฯ ลดช่วงลบท้ายสัปดาห์ขณะที่ตัวเลขการจ้างงานออกมาสดใสเกินคาด หนุนค่าเงินดอลลาร์ขึ้นอีกครั้ง ทั้งนี้นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทย 6,045 ล้านบาท แต่มียอดซื้อพันธบัตรสุทธิ 2,415 ล้านบาท ในสัปดาห์นี้ จุดสนใจหลักของนักลงทุนจะอยู่ที่ข้อมูลเงินเฟ้อเดือนพ.ค.ของสหรัฐฯ รวมถึงการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในวันที่ 11-12 มิ.ย.นี้ ซึ่งคาดว่าจะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 5.25-5.50% และประมาณการดอกเบี้ย (Dot Plot) ชุดใหม่โดยเจ้าหน้าที่เฟดมีแนวโน้มส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยเพียง 1-2 ครั้งในปีนี้ ท่ามกลางตลาดแรงงานที่ยังร้อนแรง นอกจากนี้คาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) จะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 0-0.1% ในการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย.นี้ และอาจสื่อสารเกี่ยวกับการชะลอความเร็วในการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอย่างยืดหยุ่นและค่อยเป็นค่อยไป

สำหรับปัจจัยในประเทศ คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ในการประชุมวันที่ 12 มิ.ย. ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อยังสอดคล้องกับที่ กนง.ได้เคยประเมินไว้ ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือนพ.ค.เพิ่มขึ้น 1.54% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยถือเป็นการกลับเข้ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเป็นครั้งแรกในรอบ 13 เดือน จากราคาพลังงาน ผักสดและไข่ไก่ที่ปรับตัวสูงขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ