นายวิเชียร แก้วสมบัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) ที่มีต่อเศรษฐกิจไทย ว่า สถานบันเทิงครบวงจรในบริบทของประเทศไทย ประกอบด้วยบริการต่าง ๆ เช่น คาสิโน, ห้างสรรพสินค้า, โรงแรมหรู 5 ดาว, ร้านอาหารและบาร์, ศูนย์การประชุม, สวนสนุก ฯลฯ โดยรัฐบาลวางแผนเปิดในพื้นที่เป้าหมาย 5 แห่ง ได้แก่ พื้นที่ท่าเรือคลองเตย (กทม.), พื้นที่บางกะเจ้า (สมุทรปราการ), พื้นที่ EEC, เชียงใหม่ และภูเก็ต คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2576
โดยมองว่า ผลกระทบทางบวกที่มีต่อเศรษฐกิจไทย ได้แก่ การดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ การเพิ่มขึ้นของรายได้จากการท่องเที่ยว การสร้างงาน และกระจายรายได้ในภาคบริการ รวมถึงการเพิ่มรายได้ให้รัฐผ่านภาษีและค่าธรรมเนียม
ในขณะที่ผลกระทบทางลบที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ ความเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจใต้ดิน ผลกระทบต่อหนี้สินครัวเรือน ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่อาจเพิ่มขึ้น ตลอดจนต้นทุนทางสังคมจากปัญหาการติดการพนัน
ทั้งนี้ ภายใต้กรณีฐาน ม.หอการค้าไทย คาดว่า รายได้ของผู้ประกอบการฯ จะอยู่ที่ 6.95 หมื่นล้านบาท (0.7% ของ GDP) ในขณะที่รัฐบาลจะมีรายได้ 3.60 หมื่นล้านบาท ทำให้รายได้รวมอยู่ที่ 1.06 แสนล้านบาท
จากการวิเคราะห์สถานการณ์ พบว่า รายได้ของผู้ประกอบการฯ อยู่ระหว่าง 5.63-8.29 หมื่นล้านบาท และรายได้ของรัฐบาลอยู่ระหว่าง 3.24-3.80 หมื่นล้านบาท ทำให้รายได้รวมอยู่ระหว่าง 0.89-1.21 แสนล้านบาท ขึ้นอยู่กับสัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ใช้บริการ (10-30%) และอัตราภาษีคาสิโน (15-20%)
นายวิเชียร กล่าวว่า สำหรับมาตรการสำคัญที่รัฐบาลควรทำ เพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบทางลบ ได้แก่ การออกกฎหมายและระเบียบที่เข้มงวด การป้องกันและบำบัดปัญหาการติดการพนัน และการจัดสรรรายได้ไปสู่การพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ
ด้านนางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า ม.หอการค้าไทย ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นต่อการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร พบว่า 41.6% ไม่เห็นด้วยเลย รองลงมาคือ 19.3% ที่เห็นด้วยน้อย และ 16.4% ที่เห็นด้วยน้อยที่สุด
ทั้งนี้ เมื่อถามว่าหากมีการเปิดเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ รวมถึงคาสิโน จะไปใช้บริการหรือไม่ พบว่า 51.3% บอกว่า จะไม่ไปใช้บริการแน่นอน รองลงมาคือ 22.4% บอกว่าไม่แน่ใจ ขณะที่มี 10.6% บอกว่าจะไปแน่นอน
ซึ่งในกรณีของกลุ่มตัวอย่างที่บอกว่าจะไปใช้บริการนั้น บอกว่าจะเข้าไปใช้บริการเฉลี่ย 4.7 ครั้ง/ปี โดย 32.4% บอกว่าจะใช้เงินเฉลี่ยต่อครั้ง 50,000 บาทขึ้นไป รองลงมา 28.4% บอกว่าจะใช้เงินเฉลี่ยต่อครั้งที่ 5,000-9,999 บาท
ในส่วนของภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตาชาวต่างชาติ หากมีการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร รวมถึงคาสิโน กลุ่มตัวอย่างมองว่า 46.7% จะไม่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ ขณะที่ 42.6% มองว่าจะทำให้ภาพลักษณ์แย่ลง ขณะที่อีก 10.7% มองว่าจะทำให้ภาพลักษณ์ดีขึ้น
เมื่อถามว่าคิดว่า ควรจะเปิดเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ที่ใด กลุ่มตัวอย่าง 40.9% มองว่าควรจะเปิดที่ภูเก็ต รองลงมา 17.3% ควรเปิดที่พื้นที่ท่าเรือคลองเตย กรุงเทพฯ และอีก 16.6% ควรเปิดที่พื้นที่เขตพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
สำหรับมาตรการป้องกันที่ควรมีเพื่อป้องกันผลกระทบทางสังคม มองว่า 67.3% ควรจำกัดการเข้าถึงสำหรับบุคคลบางกลุ่ม เช่นเยาวชน รองลงมา คือ 59.1% ควรให้ความรู้และรณรงค์ป้องกันปัญหาการพนัน และหนี้เสีย และ 51.8% มองว่าควรเพิ่มโทษทางกฎหมายสำหรับอาชญากรรมที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
ด้าน นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ประเด็นเรื่องเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ จากการสำรวจ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เห็นด้วย ขณะที่ผลสำรวจผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม กลุ่มตัวอย่างมองว่า ยังอยู่ในระดับกลาง ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ
ดังนั้น มองว่าเรื่องนี้ยังเป็นเรื่องก้ำกึ่ง ที่รัฐบาลต้องศึกษาให้ดี และให้ความรู้ข่าวสารอย่างรอบด้านแก่ประชาชน รวมถึงเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ เนื่องจากมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม
นายธนวรรธน์ กล่าวถึงนโยบาย "หวยเกษียณ" ด้วยว่า จุดสำคัญคือฐานข้อมูลของแรงงานที่ไม่ได้เข้าประกันสังคม คนที่เป็นฟรีแลนซ์หรือทำธุรกิจส่วนตัว ทั้งนี้ ในเชิงนโยบายถือว่าเป็นการส่งเสริมการออม เป็นสลากออมทรัพย์ที่ยิ่งออมเร็วตอนอายุน้อยยิ่งได้ลุ้นเร็ว แต่ขณะนี้ยังไม่รู้รายละเอียดของนโยบายว่าอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่เท่าไร และจะสอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อหรือไม่ จะทำให้อำนาจซื้อลดลงหรือไม่ เช่น เงิน 100 บาทที่ออมในตอนนี้ เมื่อถึงอายุ 60 ปี อาจเหลือ 97 บาทก็ได้ เป็นต้น
ดังนั้น หน่วยงานที่ดูแลต้องบริหารจัดการเงินว่า จะได้ผลตอบแทนมากน้อยเท่าไร และต้องคำนวณไม่ให้เงินไหลออก อย่างไรก็ดี มองว่าเป็นนโยบายนี้เป็นการส่งเสริมการออมที่น่าสนับสนุน