ไฮสปีดเทรนเดินหน้า หลังบอร์ดกพอ.รับทราบหลักการแก้ไขสัญญา คาดเริ่มก่อสร้าง ธ.ค.67

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 10, 2024 15:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ไฮสปีดเทรนเดินหน้า หลังบอร์ดกพอ.รับทราบหลักการแก้ไขสัญญา คาดเริ่มก่อสร้าง ธ.ค.67

ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 3/2567 ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เป็นประธาน รับทราบความก้าวหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ซึ่งปัจจุบัน การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัทเอเชีย เอรา วัน จำกัด (บริษัทในเครือบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด) คู่สัญญาผู้รับสัมปทานฯ ได้ตกลงรับมอบพื้นที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ และเจรจาหลักการแก้ไขปัญหาโครงการจากผลกระทบโควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ได้ข้อยุติแล้ว นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการบอร์ด กพอ. กล่าวว่า เนื่องจากครั้งนี้ กพอ.มีเวลาประชุมน้อยเนื่องจากนายภูมิธรรม มีภารกิจต่อ จึงยังไม่มีการการพิจารณารายละเอียดเรื่องหลักการแก้ไขปัญหาโครงการฯ โดยให้นำเสนอในการประชุม กพอ.ครั้งต่อไป ซึ่งอาจจะเป็นช่วง ปลายเดือนมิ.ย.หรือต้นเดือนก.ค. 67

ซึ่งตามขั้นตอน หลังกพอ.พิจารณาเห็นชอบแล้ว จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบในหลักการแก้ไขสัญญา โดยจะมีการทบทวนหลักการ PPP ตามมติ ครม. ที่อนุมัติโครงการไว้ เมื่อวันที่ 27 มี.ค.61 ซึ่งคาดว่าจะเสนอ ครม. ได้ภายในเดือน ก.ค. 67 จากนั้น รฟท. และเอกชนคู่สัญญาจะเจรจาร่างสัญญาแก้ไข เพื่อส่งให้สำนักงาน อัยการสูงสุดตรวจร่างฯ และส่ง กพอ. และ ครม. เห็นชอบอีกครั้งจึงจะลงนามแก้ไขสัญญา และออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP : Notice to Proceed) ภายในธ.ค. 67 เพื่อเริ่มงานก่อสร้างต่อไป

ทั้งนี้ หลักการแก้ไขปัญหา จะอยู่บนพื้นฐานความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชน เป็นธรรมต่อคู่สัญญา รัฐไม่เสีย ประโยชน์ และเอกชนไม่ได้ประโยชน์เกินควร มีหลักการที่สำคัญ ได้แก่ การแก้ไขวิธีชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการฯ (PIC) โดย รัฐจะเริ่มลงทุนเร็วขึ้นตามระยะเวลาความแล้วเสร็จของงาน และเอกชนตกลงวางหลักประกัน (Bank Guarantee) เต็มจำนวน ค่าก่อสร้าง และการแก้ไขวิธีการชำระค่าสิทธิโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) เอกชนแบ่งชำระ 7 งวด โดยรฟท. ยังคงได้รับ ค่าสิทธิครบจำนวน 10,671.09 ล้านบาท เอกชนรับภาระดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายทางการเงินส่วนที่เกินทั้งสิ้น

*สนามบินอู่ตะเภา รันเวย์ที่ 2 คาดสรุปผลประมูลในส.ค.-ก.ย.67

ส่วนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ความก้าวหน้าในส่วนภาครัฐ กองทัพเรือได้ออกประกาศเชิญชวนยื่นข้อเสนองานจ้างก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 และทางขับสนามบินอู่ตะเภา เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งมียื่นข้อเสนอ 7 กลุ่ม คาดว่าจะพิจารณาข้อเสนอทางเทคนิคได้ภายในเดือน มิ.ย.นี้ และสรุปผลประมูลในส.ค.-ก.ย.67 และเสนอครม.เห็นชอบ คาดว่าจะลงนามสัญญาภายในเดือนธ.ค.67 ก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 71

ส่วนการก่อสร้างเมืองการบินของ บริษัท อู่ตะเภาอินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) นั้น ทางสกพอ. UTA และกองทัพเรือได้หารือ เพื่อวางแผนบริหารการใช้พื้นที่ร่วมกันแล้ว รวมถึงการประสานแผนงานกับ ไฮสปีด 3 สนามบินซึ่งคาดว่า ครม.เห็นชอบหลักการแก้ปัญหา ไฮสปีด 3 สนามบิน จะนำไปสู่การร่วมลงนาม 3 ฝ่าย คือ สกพอ. UTA และ บริษัทเอเชีย เอรา วัน ซึ่งคาดว่าจะแจ้งเอกชนเริ่มก่อสร้างโครงการฯ (NTP) ได้ภายในปี 67 นี้ และเปิดให้บริการภายในปี 72

ขณะที่งานระบบไฟฟ้าและน้ำเย็น มีความก้าวหน้าภาพรวม 26.32% โดยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ มีความก้าวหน้ากว่า 94.85% งานด้านระบบบริการ เติมเชื้อเพลิงอากาศยาน มีความก้าวหน้ารวม 47.38% งานด้านประปาและบำบัดน้ำเสีย มีความก้าวหน้ารวม 97.62% เป็นต้น

ที่ประชุม กพอ.ยังได้เห็นชอบ การกำหนดอัตราค่าเช่าที่ดินราชพัสดุในเขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) ที่อัตรา 10,6800 บาทต่อไร่ ต่อปี ซึ่งมีหลักเกณฑ์คำนวณในสัดส่วน 3% จากอัตราค่าเช่าที่ดิน ราคาประเมิน 8,900 บาทต่อตารางวา หรือ 3,560,000 บาทต่อไร่ โดยจะมีการปรับอัตราค่าเช่าขึ้น 9% ทุก 3 ปี

โดยในพื้นที่อีอีซี กำหนดเป็น ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา จำนวน 6,500 ไร่ และมีพื้นที่ ที่สกพอ.จัดให้เช่าที่ดินราชพัสดุ เพื่อดำเนินการ 4 กิจกรรม ได้แก่ 1. โครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา จำนวน 210 ไร่ 2. โครงการศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศอู่ตะเภา จำนวน 70 ไร่ 3. สาธารณูปโภคที่จัดทำโดยหน่วยงานรัฐ จำนวน 154 ไร่ 4. อาคารหอบังคับการบิน จำนวน 5.3 ไร่

*คาดท่าเทียบเรือ F1 เปิดดำเนินการภายในปี 70

โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนท่าเทียบเรือ F งานก่อสร้างทางทะเล มีความล่าช้าประมาณ 3% โดยมีความก้าวหน้าในภาพรวม 29.02% โดยพื้นที่ถมทะเล 1 และ 2 ได้ดำเนินการถมแล้วเสร็จ ส่วนพื้นที่ถมทะเล 3 อยู่ระหว่างดำเนินการ โดยคาดว่า ยังสามารถส่งมอบพื้นที่ให้กลุ่มบริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด (GPC) ผู้รับสัมปทานได้ตามกำหนดเดือนพ.ย. 68 และจะเปิดดำเนินการท่าเทียบเรือ F1 ได้ภายในปี 70

*ท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 คาดแล้วเสร็จในปี 70

โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในภาพรวม มีความก้าวหน้า 80.93% งานด้านถมทะเล พื้นที่แปลง LNG Plot (แปลง B) และพื้นที่ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง (แปลง C) ดำเนินการถม แล้วเสร็จ ส่วนพื้นที่ท่าเรือสินค้าเหลว (แปลง A) มีความก้าวหน้า 30.95% โดยท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 70


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ