จับตานโยบายการค้า หลัง "โมดี" คว้านายกฯ 3 สมัย "อินเดีย" ตลาดใหญ่ที่ไทยต้องเกาะติด

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 10, 2024 16:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

จับตานโยบายการค้า หลัง

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากนายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ถึงผลที่มีต่อเศรษฐกิจและการค้า จากการที่นายกรัฐมนตรี "นเรนทรา โมดี" ของอินเดีย จากพรรค BJP ชนะการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.67 และได้ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 3 ติดต่อกัน ซึ่งอินเดียเป็น 1 ใน 10 ประเทศเป้าหมายสำคัญ ที่ไทยจะดำเนินการนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ที่ตั้งทีมไทยแลนด์ขึ้น เพื่อบูรณาการทำงานร่วมกัน และสร้างโอกาสทางการค้าให้กับประเทศ

จับตานโยบายการค้า หลัง

นายพูนพงษ์ รายงานว่า ภายใต้การบริหารประเทศของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อินเดียได้กลายเป็นประเทศเศรษฐกิจหลักที่มีการเติบโตเร็วที่สุดในโลกด้วย GDP ที่ขยายตัวถึง 8.2% ในปีงบประมาณ 2566-2567 (เม.ย.66 - มี.ค.67) โดยขยายตัวสูงกว่าที่รัฐบาลอินเดียคาดการณ์ไว้ที่ 7.6% และเมื่อครั้งที่ นเรนทรา โมดี เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อปี 2557 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของอินเดียในขณะนั้น ขยายตัวสูงอยู่ที่ 7.4% เช่นกัน

ในด้านผลต่อเศรษฐกิจและการค้านั้น การที่นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ชนะการเลือกตั้งเป็นนายกฯ ต่ออีกสมัย จะไม่ส่งผลกระทบในการกำหนดทิศทางนโยบายด้านต่างประเทศ และการค้าต่างประเทศในระยะยาว ซึ่งคาดการณ์ว่า รัฐบาลอินเดียจะยังคงนโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศไว้ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมมากนัก ประกอบกับที่ผ่านมา อินเดียดำเนินนโยบายต่างประเทศที่เป็นอิสระ และเป็นเอกเทศ สนับสนุนโลกหลายขั้วอำนาจ ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ซึ่งส่งผลดีต่ออินเดียอย่างชัดเจน จากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ขยายวงกว้าง ระหว่างจีนและสหรัฐฯ นำไปสู่การยกระดับอินเดีย สู่ระบบห่วงโซ่การผลิตของโลกแทนที่จีน และพาอินเดียเป็นมหาอำนาจเกิดใหม่ (Emerging Power)

จับตานโยบายการค้า หลัง

นอกจากนี้ อินเดียเพิ่งมีการเริ่มใช้นโยบายด้านการค้าต่างประเทศใหม่ปี 2566 เมื่อวันที่ 1 เม.ย.66 จากเดิมที่มีการใช้นโยบายการค้าต่างประเทศในช่วงปี 2558 - 2563 จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คาดการณ์ว่า ทิศทางการดำเนินนโยบายดังกล่าว จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก เมื่อเทียบกับสภาวะปัจจุบันและก่อนหน้านี้ของอินเดีย

โดยนโยบายปี 2566 ได้กำหนดแผนงานในการบูรณาการอินเดียเข้ากับตลาดโลก และทำให้อินเดีย เป็นประเทศคู่ค้าที่มีความน่าเชื่อถือ และไว้วางใจได้ มุ่งเน้นการสร้างระบบนิเวศที่เอื้ออำนวย เพื่อสนับสนุนปรัชญา "อัตมานิรภาร์ ภารัต" (Atmanirbhar Bharat) หรือ "นโยบายพึ่งพาตนเอง" ของอินเดีย ในการส่งเสริมสินค้าอินเดียในตลาดห่วงโซ่อุปทานโลก ช่วยให้ประเทศบรรลุเป้าหมายในการพึ่งพาตนเอง พร้อมทั้งเป้าการเป็นศูนย์กลางการส่งออกโลก มุ่งเน้นการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศคู่ค้าต่าง ๆ อาทิ สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร โอมาน ศรีลังกา ออสเตรเลีย และเปรู

โดยล่าสุด เมื่อเดือนมี.ค.67 อินเดียได้ลงนามความตกลง FTA กับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association: EFTA) ประกอบด้วยสมาชิก 4 ประเทศ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์, นอร์เวย์, ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ ซึ่งผลการดำเนินนโยบายการค้าต่างประเทศที่แข็งแกร่งของอินเดีย สะท้อนให้เห็นจากตัวเลขการส่งออกของอินเดีย ที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีงบประมาณ 2566-2567 (เม.ย.66 - มี.ค.67) โดยการส่งออกสินค้าและบริการของอินเดียรวมกัน มีมูลค่าสูงกว่า 776.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามทิศทางนโยบายการค้าต่างประเทศของอินเดียต่อไป เนื่องจากอินเดียยังคงเป็นตลาดที่น่าจับตามองจากนานาประเทศ จากขนาดตลาดที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก มากกว่า 1,400 ล้านคน ประกอบกับเมื่อเร็ว ๆ นี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่า อินเดียจะกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 4 ของโลกภายในปี 2568 รองจากสหรัฐฯ จีน และเยอรมนี โดยอินเดีย เป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมาย 10 ประเทศสำคัญ ที่ไทยจะดำเนินการนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก ซึ่งเป็นการบูรณาการทำงานระหว่างกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ได้มีการเร่งผลักดันการใช้สิทธิ์ภายใต้ความตกลง FTA ที่ไทยมีกับอินเดีย ทั้ง 2 ฉบับ ได้แก่ ไทย-อินเดีย และ อาเซียน-อินเดีย ซึ่งอยู่ระหว่างการยกระดับความตกลงให้มีความทันสมัย และครอบคลุมมากขึ้น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ส่งออกและผู้ประกอบการไทย รวมถึงผลักดันสินค้าไทย ให้สามารถจำหน่ายบนช่องทางออนไลน์ และออฟไลน์ของอินเดีย

ทั้งนี้ ปี 2566 อินเดียเป็นคู่ค้าลำดับที่ 11 ของไทย มีมูลค่าการค้ารวม 16,045 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 555,217 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.8% ของการค้ารวมของไทย โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปอินเดีย ได้แก่ (1) เม็ดพลาสติก (2) เคมีภัณฑ์ (3) ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ (4) อัญมณีและเครื่องประดับ และ (5) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญจากอินเดีย ได้แก่ (1) เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ (2) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (3) เคมีภัณฑ์ (4) พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช และ (5) สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะ และผลิตภัณฑ์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ