นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง ยืนยันถึงความจำเป็นที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ควรพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในขณะนี้เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศที่ยังมีความเปราะบาง รวมทั้งเห็นสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ธนาคารกลางหลายประเทศก็มีแนวโน้มจะลดอัตราดอกเบี้ยลง ดังนั้น ทั้งในมิติของในประเทศและมิติของต่างประเทศเองก็สนับสนุนการปรับดอกเบี้ยนโยบายของไทย
ปัจจุบันรัฐบาลใช้นโยบายการคลังอย่างเต็มที่แล้วในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงต้องการเห็นนโยบายการเงินสอดคล้องในทิศทางเดียวกัน ช่วยสนับสนุนซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ หาก กนง.ยังตรึงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ก็จะเป็นภาระของภาคการคลังเพิ่มขึ้น
"ก็คงเป็นภาระของภาคการคลังที่จะต้องทำงานหนัก ซึ่งเราก็ทำงานเต็มที่แล้ว ที่จะใช้งบประมาณ และมาตรการการคลัง เพื่อผลักดันเศรษฐกิจ แต่มันจะง่ายขึ้นเยอะ ถ้ามาตรการการเงินไปในทิศทางเดียวกัน และสนับสนุนซึ่งกันและกัน" นายเผ่าภูมิ กล่าวผ่านรายการโทรทัศน์เช้านี้
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในปีนี้คาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 0.6-0.7% หลุดขอบล่างของกรอบเป้าหมาย 1.0-3.0% ดังนั้น กนง. คงต้องพิจารณาว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันที่ 2.50% สูงเกินไปหรือไม่สำหรับเศรษฐกิจไทยขณะนี้ เป็นสมการง่าย ๆ ที่ไม่ต้องตีความกันต่อ และเป็นสมการที่ยอมรับกันทั่วโลก
นายเผ่าภูมื ยังกล่าวอีกว่า ไม่เห็นด้วยกับการปล่อยให้อัตราเงินเฟ้อต่ำแบบนี้เป็นเวลานานโดยไม่มีมาตรการเข้ามาดูแล เพราะจะเป็นอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจ หลังจากที่การแถลงของ กนง.ในการประชุมครั้งล่าสุด (10 เม.ย.) ระบุเพียงว่าอัตราเงินเฟ้อจะทยอยปรับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ราวปีหน้า
"คำตอบแบบนี้ไม่เพียงพอเราไม่สามารถแช่เงินเฟ้อให้ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายอยู่เป็นปี ๆ แบบนี้ ไม่มีประเทศไหนเขาทำกัน มันเป็นอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจ การที่เงินเฟ้อต่ำ และแช่เป็นเวลานานเป็นปี หมายความว่ามันเกิดภาวะที่เงินไม่ flow ในระบบ เงินไม่หมุนเวียนในระบบ ไม่มีการใช้สอย ซึ่งเป็นอันตราย" รมช.คลัง กล่าว
อย่างไรก็ดี หากสุดท้ายแล้ว กนง.ยังตัดสินใจจะตรึงดอกเบี้ยนโยบายไว้ รัฐบาล และกระทรวงการคลัง คงไม่สามารถดำเนินการอะไรในมิติของนโยบายการเงินได้ เพราะ ธปท.มีความเป็นอิสระในการตัดสินใจ
"เรามีสิทธิให้ความเห็น แสดงความเห็น และมีสิทธิท้วงติง แต่อำนาจการตัดสินใจอยู่ที่ กนง." นายเผ่าภูมิ ระบุ