นายกฯ ปัดข่าวดัน "กิตติรัตน์" นั่งปธ.บอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่ เหตุติดเงื่อนไขข้อกม.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 12, 2024 10:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ออกมาปฏิเสธหลังมีกระแสข่าวรัฐบาลจะเสนอชื่อนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรมว.คลัง เป็นประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่หลังจากนายปรเมธี วิมลศิริ ประธานคณะกรรมการ ธปท. คนปัจจุบันจะครบวาระในเดือน ก.ย.67

นายกฯ ระบุว่า นายกิตติรัตน์ คงไม่สามารถดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการ ธปท.ได้ เนื่องจากติดข้อกฎหมายในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่ก่อนแล้ว

ส่วนกรณีของนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าธปท. ซึ่งจะหมดวาระการดำรงตำแหน่งในเร็ว ๆ นี้ นายกฯ ระบุว่า เรื่องนี้ต้องสอบถาม นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ส่วนตัวยังไม่มีได้การพูดคุยเรื่องนี้ ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกของการแต่งตั้ง

สำหรับผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนี้ต้องมีแนวนโยบายเดียวกับรัฐบาลหรือไม่ นายกฯ ย้ำว่า จิตวิญญาณของรัฐบาลในการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจเป็นหนึ่งเดียวกันมาโดยตลอดทุกภาคส่วน เช่น หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งได้มีการพูดคุยกันมาโดยตลอด และการหารือในวงประชุมทุกคนเป็นผู้หลักผู้ใหญ่พูดคุยกันรู้เรื่อง

นายกฯ กล่าวตอบคำถามถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันนี้ถึงความคาดหวังจะลดอัตราดอกเบี้ยว่า เรื่องนี้พูดหลายครั้งแล้วว่ามีความคาดหวังชัดเจนที่อยากจะลดอัตราดอกเบี้ย แต่ไม่อยากพูดไปมากเพราะอาจเข้าไปก้าวก่าย หรือไปชี้นำเรื่องนี้ ปล่อยเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการ

ทั้งนี้ความต้องการของตนเองชัดเจน และเชื่อว่าเป็นความต้องการสะท้อนมาจากประชาชนด้วย พร้อมเดินหน้าสร้างเศรษฐกิจ และทำทุกอย่างในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เมื่อไม่ได้ทางนี้ก็ไปอีกทางหนึ่ง แต่ยึดข้อกฎหมายและความเดือดร้อนของประชาชนเป็นที่ตั้ง เพื่อแก้ปัญหาให้ได้โดยไม่ได้เอามาเป็นข้ออ้างว่าทำไมถึงทำไม่ดี ดังนั้นจึงต้องทำงานต่อไป

ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวถึงการพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายว่า เป็นหน้าที่ของ กนง. ซึ่งการประชุมในวันนี้ ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร รัฐบาลก็ยังต้องเดินหน้าทำหน้าที่ต่อไปในการรับผิดชอบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

"รัฐบาลยังคงยืนยันตามความเห็นเดิม เรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง แต่ก็ต้องยอมรับว่า ส่วนนี้เป็นอำนาจของ กนง. ที่จะดำเนินการ ซึ่งถ้าหาก กนง. มีการพิจารณาในส่วนนี้ และช่วยให้มันคลายตัวลง การดูแลเศรษฐกิจก็จะง่ายขึ้น เหมือน 2 แรงมาช่วยกัน เพราะปัจจุบันกลไกทางการคลังตึงพอสมควร" รมช.คลัง ระบุ

https://youtu.be/-n9fiIMfWGI


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ