สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เปิดรับฟังร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย(PDP 2024) และแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) ทั้งนี้ แผน PDP2024 ได้ระบุถึงกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ที่จะทยอยเข้ามาในช่วงปี 2567-2580 รวมทั้งสิ้น 60,208 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นกำลังผลิตใหม่ที่ไม่นับรวมกำลังผลิตที่มีข้อผูกพันแล้ว แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน รวม 34,851 เมกะวัตต์ ,โรงไฟฟ้าพลังงานร้อนร่วม 6,300 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน หรือ SMR รวม 600 เมกะวัตต์ ,รับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ 3,500 เมกะวัตต์ และอื่นๆ (VR ,D2G) 2,000 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ยังมีโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ 2,472 เมกะวัตต์ และระบบกักเก็บพลังงาน 10,485 เมกะวัตต์
สำหรับค่าไฟฟ้าต่อหน่วยขายปลีกปี 2567-2580 ของแผน PDP2024 เฉลี่ย 3.8704 บาทต่อหน่วย ถูกลงจากแผนเดิม ซึ่งอยู่ที่ 3.9479 บาทต่อหน่วย อย่างไรก็ตาม แผน PDP2024 จะมีสัดส่วนไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเป็น 51% เทียบกับ 36% ในแผนเดิม 36% รวมถึงนำไฮโดรเจนมาผสมในเชื้อเพลิงสัดส่วน 5% อีกด้วย
โดยภายหลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวตามขั้นตอนแล้ว คาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการ PDP และเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามลำดับ คาดว่าจะประกาศใช้ภายในเดือน ก.ย.นี้
นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า หลังจาก ครม.สั่งการให้กระทรวงพลังงานหาแนวทางร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในการออกมาตรการส่งเสริมให้บริษัทเอกชนซื้อขายไฟฟ้าพลังงานสะอาด และพลังงานทดแทนได้โดยตรงจากผู้ผลิตไฟฟ้า หรือ Direct PPA (Purchase Power Agreement) เพื่อสนับสนุนนโยบายส่งเสริมการลงทุนด้าน Data Center ของไทย และดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ โดยให้กำหนดมาตรการที่เหมาะสมมานำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ภายในเดือนมิถุนายน 2567
ขณะนี้กระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เพื่อวางมาตรการที่เหมาะสมเกี่ยวกับ โครงการนำร่อง Direct PPA เพื่อทดลองตลาด คาดว่าจะมีความชัดเจนในเบื้องต้นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ดำเนินโครงการดังกล่าวภายในสัปดาห์หน้า