ดัชนีเชื่อมั่นหอการค้าพ.ค. ลดทุกภาค กังวลการเมืองไม่นิ่ง-ศก.ไทยโตต่ำ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 13, 2024 13:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีเชื่อมั่นหอการค้าพ.ค. ลดทุกภาค กังวลการเมืองไม่นิ่ง-ศก.ไทยโตต่ำ

นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC-CI) เดือนพ.ค. 67 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจ และหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 27-31 พ.ค. 67 โดยดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 55.1 ลดลงจากระดับ 55.3 ในเดือนเม.ย. 67

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในแต่ละภูมิภาค เป็นดังนี้

  • กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดัชนีฯ อยู่ที่ 54.7 ลดลงจากเดือนเม.ย. ซึ่งอยู่ที่ 55.0
  • ภาคกลาง ดัชนีฯ อยู่ที่ 54.9 ลดลงจากเดือนเม.ย. ซึ่งอยู่ที่ 55.1
  • ภาคตะวันออก ดัชนีฯ อยู่ที่ 57.7 ลดลงจากเดือนเม.ย. ซึ่งอยู่ที่ 57.8
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 53.6 ลดลงจากเดือนเม.ย. ซึ่งอยู่ที่ 53.9
  • ภาคเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 55.2 ลดลงจากเดือนเม.ย. ซึ่งอยู่ที่ 55.4
  • ภาคใต้ ดัชนีฯ อยู่ที่ 54.5 ลดลงจากเดือนเม.ย. ซึ่งอยู่ที่ 54.6

ปัจจัยลบ ได้แก่

1. ความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศไทย ที่มีข่าวด้านต่าง ๆ ออกมา ทำให้คนส่วนใหญ่กังวลต่อเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาล

2. สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผยภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปี 67 ขยายตัว 1.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พร้อมทั้งปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยปี 67 คาดว่าจะขยายตัว 2.5% ลดลงจากที่คาดไว้ก่อนหน้าว่าจะขยายตัวได้ 2.7%

3. ความกังวลจากความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่ยังคงอยู่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้มีการปรับราคาน้ำมันเชื้อเพลิง

4. ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศ ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 1 บาท/ลิตร มาอยู่ที่ระดับ 32.94 บาท/ลิตร สิ้นเดือน เม.ย. 67

5. SET Index เดือน พ.ค. 67 ปรับตัวลดลง 22.29 จุด จาก 1,367.95 ณ สิ้นเดือน เม.ย. 67 เป็น 1,345.66 ณ สิ้นเดือน พ.ค. 67

6. ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 36.789 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน เม.ย. 67 เป็น 36.636 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน พ.ค. 67 สะท้อนว่ามีการไหลออกสุทธิของเงินตราต่างประเทศ

7. ความกังวลต่ออัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ที่รัฐบาลจะให้มีการปรับเพิ่มขึ้นในอัตราเดียวกันทั้งประเทศ ซึ่งทำให้ต้นทุนของธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น

8. ความกังวลจากปัญหาภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะสถานการณ์ภัยแล้ง รวมทั้งบางพื้นที่อาจเกิดน้ำท่วม ซึ่งจะสร้างความเสียหายปริมาณผลผลิตทางการเกษตร

9. ความกังวลในเรื่องของต้นทุนปัจจัยการผลิต-การเกษตรของผู้ประกอบการ ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

ปัจจัยบวก ได้แก่

1. ภาครัฐดำเนินมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชน และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ

2. ภาครัฐออกมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในเมืองรอง 55 จังหวัด ในช่วงระหว่างวันที่ 1 พ.ค.-30 พ.ย. 67

3. นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวนมากขึ้น ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น

4. ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น หรือทรงตัว ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น และมีกำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น

5. การส่งออกของไทยเดือน เม.ย. 67 ขยายตัว 6.81% มูลค่าอยู่ที่ 23,278 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้าเพิ่มขึ้น 8.35% มีมูลค่าอยู่ที่ 24,920 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 1,641 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

6. ความหวังของประชาชนจากการมีสัญญาณของการขึ้นค่าจ้างงาน และเริ่มจะมีในการจับจ่ายใช้สอยที่กลับมามากขึ้น แต่ยังคงมีการระมัดระวังการเลือกซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น

7. ผลผลิตทางการเกษตร เช่น ทุเรียนไทย ถึงช่วงฤดูการเก็บเกี่ยว เริ่มทำให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียน และผู้ประกอบการส่งออกผลไม้มีรายได้เพิ่มขึ้น

8. ราคาน้ำมันขายปลีกแก๊สโซฮอล์ ออกเทน 91 (E10) และแก๊สโซฮอล์ ออกเทน 95 ในประเทศ ปรับตัวลดลงประมาณ 1.5 และ 2.2 บาท/ลิตร อยู่ที่ระดับ 37.78 และ 38.15 บาท/ลิตร

ทั้งนี้ ภาคธุรกิจได้เสนอแนวทางดำเนินการในการแก้ไขปัญหา ดังนี้

  • การสร้างความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศไทย
  • แนวทางการดูแลค่าแรงของประชาชนให้เหมาะสมกับค่าครองชีพ และไม่ส่งผลกระทบกับการดำเนินงานในภาคธุรกิจขนาดเล็ก
  • มาตรการกำกับจัดสรรแก้ไขปัญหาน้ำที่เกิดจากสภาพอากาศที่แปรปรวน และส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำในภาคเกษตร-อุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ
  • แนวทางการสนับสนุนให้มีการลงทุนภายในประเทศกับนักลงทุนชาวต่างชาติ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้ฟื้นตัวขึ้น
  • มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วง Low Season เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่คึกคักขึ้น
  • การรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ