เสถียรภาพการเมืองสั่นคลอน! กดดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคพ.ค.ต่ำสุดในรอบ 7 เดือน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 13, 2024 12:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เสถียรภาพการเมืองสั่นคลอน! กดดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคพ.ค.ต่ำสุดในรอบ 7 เดือน

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนพ.ค.67 อยู่ที่ระดับ 60.5 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน นับตั้งแต่ ธ.ค.66

โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดัชนีลดลงต่ำสุดในรอบ 7 เดือน มาจากความกังวลเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศเป็นสำคัญ โดยเฉพาะกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้อง 40 สว. เกี่ยวกับคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี ตลอดจนความกังวลสถานการณ์ราคาพลังงานในประเทศที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งความกังวลเศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามในตะวันออกกลางที่อาจยืดเยื้อ ซึ่งเป็นปัจจัยเพิ่มแรงกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้ล่าช้าออกไป

เสถียรภาพการเมืองสั่นคลอน! กดดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคพ.ค.ต่ำสุดในรอบ 7 เดือน

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม อยู่ที่ 54.3 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางาน อยู่ที่ 57.6 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 69.8 ซึ่งดัชนีทุกรายการ ปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 เช่นกัน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวม ยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่า 100 (ระดับปกติ) แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคมองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้า ค่าครองชีพสูง และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยและทั่วโลก ตลอดจนสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน กับอิสราเอลกับฮามาสในฉนวนกาซาที่ยังคงยืดเยื้อ ส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยยังคงมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้

เสถียรภาพการเมืองสั่นคลอน! กดดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคพ.ค.ต่ำสุดในรอบ 7 เดือน

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเริ่มหันเข้าสู่วัฎจักรขาลง แต่คงยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะลดลงไปถึงจุดไหน โดยสถานการณ์ทางการเมืองในเดือนมิ.ย.จะโดดเด่น หรือทรุดตัวแค่ไหนนั้น เป็นสิ่งที่ประชาชนและภาคธุรกิจไม่มีความมั่นใจ ซึ่งภาพนี้ได้ไปสะท้อนในตลาดหลักทรัพย์จากผลของความไม่นิ่งของการเมืองไทย และยังไม่สามารถประเมินได้ว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะกลับมาเป็นขาขึ้นเมื่อใด จนกว่าจะมีความชัดเจนจากคำตัดสินของศาล รวมทั้งหลังคำตัดสินของศาลแล้ว จะยังมีความเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งในสภาฯ และนอกสภาฯ อย่างไร

"ดัชนีลดลงต่ำสุดในรอบ 7 เดือน กินไปแล้ว 2 ไตรมาส เป็นสัญญาณที่เหมือนจะบอกว่าความเชื่อมั่นเป็นวัฎจักรขาลง โดยความเชื่อมั่นลดลงต่อเนื่อง 3 เดือน...ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนนี้ ถือว่าลดลงค่อนข้างแรง จากผลของความไม่แน่นอนทางการเมืองเป็นสำคัญ จากปลายเดือนพ.ค. ที่ศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้อง 40 สว. กรณีคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี โดยจะตัดสินในเร็ว ๆ นี้ และในสัปดาห์หน้า ศาลจะพิจารณาทุกรายการ ทั้งเรื่องของพรรคก้าวไกล กรณีอดีตนายกฯ ทักษิณ กรณีของนายกฯ เศรษฐา และกรณีการเลือก สว." นายธนวรรธน์ ระบุ

นายธนวรรธน์ ยังกล่าวถึงมุมมองภาวะเศรษฐกิจไทยของผู้บริโภค ที่สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนพ.ค.ว่า หากรัฐบาลสามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองใน 55 จังหวัดตามมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวที่ออกมาล่าสุด ได้อย่างเป็นรูปธรรมในช่วง Low Season ตลอดจนการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐให้ได้ 70% จากเป้าที่ 7 แสนล้านบาท ก็จะทำให้มีเม็ดเงินราว 4-5 แสนล้านบาท กระจายลงสู่ระบบเศรษฐกิจของทุกพื้นที่ได้ และจะเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจไทยเริ่มเห็นการฟื้นตัวได้ตั้งแต่ไตรมาส 3 ปีนี้เป็นต้นไป และหากมีการผูกพันงบประมาณ เร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณของปี 68 ได้ตั้งแต่ไตรมาส 4/67 (ไตรมาส 1 ปีงบ 68) ก็จะช่วยให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้ดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

นอกจากนี้ ยังรวมถึงการเพิ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติอีก 1 ล้านคน และเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวในปีนี้ อีกอย่างน้อย 5 แสนล้านบาท มาตรการส่งเสริมการลงทุน ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับนักธุรกิจมากขึ้น และการขับเคลื่อน 8 อุตสาหกรรม ตามนโยบาย IGNITE Thailand ปัจจัยเหล่านี้ ก็จะเป็นตัวขับเคลื่อนที่ดีและช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังได้เช่นกัน

"ถ้าการเมืองนิ่ง และมีการส่งเสริมการลงทุนที่ชัดเจนมากพอ ก็จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 และต้นปีหน้าเป็นสำคัญ...ม.หอการค้าไทย ยังคงยึดตัวเลข GDP ปีนี้ที่ 2.6% และหากรัฐบาลอัดฉีดเม็ดเงินดิจิทัลวอลเล็ตเข้ามาในไตรมาส 4 ก็เชื่อว่าเศรษฐกิจไทย มีโอกาสจะเติบโตได้ 3.0-3.2% ในปีนี้ ซึ่งเศรษฐกิจไทยจะผันตัวจากเศรษฐกิจขาลง และผ่านจุดต่ำสุดในเดือนมิ.ย." นายธนวรรธ์ กล่าว

พร้อมระบุว่า สถานการณ์ทางการเมืองไทยจะเป็นตัวพลิกผันสำคัญ เพราะจะมีผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค, ทิศทางการจับจ่ายใช้สอย และความเชื่อมั่นที่มีต่อเศรษฐกิจไทย โดย ม.หอการค้าไทย เชื่อว่าถ้าสถานการณ์การเมืองไม่มีปัญหา เศรษฐกิจไทยปีนี้มีโอกาสจะเติบโตได้ 2.6% แต่หากการเมืองมีปัญหา เศรษฐกิจไทยอาจจะเติบโตในช่วง 2-2.4%

"ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับเป็นขาลง เพราะปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย กลับมาอยู่ที่เรื่องของการเมือง ซึ่งมีน้ำหนักถึง 60-75% เมื่อเทียบกับปัจจัยเศรษฐกิจโลก ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ ที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทยไม่มากนัก ที่ 25% ทั้งนี้ ยังไม่เห็นภาพว่าความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะฟื้นได้เมื่อไร ตราบใดที่การเมืองยังไม่นิ่ง ก็จะมีผลให้ความเชื่อมั่นยังปรับตัวลดลงได้ต่อเนื่องอยู่ เศรษฐกิจไทยยังโตไม่โดดเด่นในช่วงไตรมาส 2 และต้นไตรมาส 3 แต่หากทุกอย่างคลี่คลาย งบประมาณแผ่นดินถูกนำออกมาใช้เต็มที่ รวมทั้งดิจิทัลวอลเล็ตที่จะออกมา เราเชื่อว่าปลายไตรมาส 3 และไตรมาส 4 เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้อย่างชัดเจน" นายธนวรรธน์ ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ