SCB EIC หั่นเป้า GDP ไทยปี 67 เหลือโต 2.5% ฟื้นช้า-ลงทุนภาครัฐหด-การเมืองซ้ำเติม

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 18, 2024 15:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

SCB EIC หั่นเป้า GDP ไทยปี 67 เหลือโต 2.5% ฟื้นช้า-ลงทุนภาครัฐหด-การเมืองซ้ำเติม

นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยปี 67 ขยายตัว 2.5% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 2.7% โดยเศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวช้าจากความไม่แน่นอนที่มากขึ้น ทั้งภายนอกประเทศที่ยังมีประเด็นการกีดกันการค้าระหว่างสหรัฐและจีน รวมทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และความไม่แน่นอนภายในประเทศจากปัจจัยการเมืองกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน

ขณะที่ปี 68 เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวต่อเนื่องที่ 2.9% ส่วนหนึ่งจากการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนและการเบิกจ่ายภาครัฐที่กลับมาเป็นปกติ

SCB EIC หั่นเป้า GDP ไทยปี 67 เหลือโต 2.5% ฟื้นช้า-ลงทุนภาครัฐหด-การเมืองซ้ำเติม

SCB EIC ระบุว่า การเมืองในประเทศ อาจกระทบต่อนโยบายทางเศรษฐกิจของพรรคการเมืองที่มีความไม่แน่นอนมากขึ้น ซึ่งทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นและหันไปลงทุนกับประเทศที่มีนโยบายทางเศรษฐกิจที่มีทิศทางชัดเจน นอกจากนี้ ยังอาจกระทบต่อการพิจารณางบประมาณภาครัฐปี 68 อีกด้วย ซึ่งนอกจากกรณีคดีคุณสมบัตินายกฯแล้ว ความเสี่ยงทางการเมืองของไทยอาจสูงขึ้นอีกในระยะข้างหน้า เช่น ประเด็นนิรโทษกรรมและการตัดสินยุบพรรคก้าวไกล

"เราประมาณการการเติบโตเศรษฐกิจไทยปี 67 ครั้งที่แล้ว 3% เมื่อ 3 เดือนที่แล้วเราคิดว่าโตได้ 2.7% รอบนี้เราปรับลงเหลือ 2.5% ความกังวลของเรามีต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก"

SCB EIC มองว่าองค์ประกอบของเศรษฐกิจไทยยังมีแรงกดดันจาก

(1) การส่งออกสินค้าที่จะขยายตัวจำกัดส่วนหนึ่งเพราะการส่งออกไทยเริ่มฟื้นตัวไม่สอดคล้องกับปริมาณการค้าโลกมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มเหล็ก ผลไม้ และ HDD ที่จะหดตัวในปีนี้

(2) ภาคการผลิตที่จะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยมีแรงกดดันทั้งปัจจัยภายนอกจากสินค้าจีนที่เข้ามาตีตลาดเนื่องจากจีนมีปัญหา Overcapacity ในประเทศ รวมถึงปัจจัยภายในจากอุปสงค์ในประเทศที่เริ่มมีสัญญาณแผ่วลง และ

(3) การลงทุนภาครัฐที่แม้จะกลับมาเร่งตัวจากการเร่งรัดเบิกจ่ายหลัง พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 ล่าช้ากว่าครึ่งปี แต่จะไม่สามารถชดเชยการหดตัวรุนแรงในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ได้

สำหรับโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล SCB EIC เห็นว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง แต่เป็นการกระตุ้นระยะสั้น สิ่งที่ตามมาคือภาระการคลังหรือหนี้สาธารณะที่สูงขึ้น ซึ่งจะเป็นปัญหาในระยะยาวได้ โดยมีมุมมองว่ารัฐบาลควรจะเยียวยาเฉพาะกลุ่มมากกว่า ขณะเดียวกัน ต้องคู่ขนานไปกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือกระตุ้นให้มีการจ้างงาน

ขณะที่ระยะยาวเศรษฐกิจไทยเผชิญความเปราะบางมากขึ้นทั้ง (1) ภาคครัวเรือน : กลุ่มคนรายได้น้อยขาดกันชนทางการเงินที่เพียงพอในระยะข้างหน้า เช่น เงินสำรองฉุกเฉินและประกันความเสี่ยงรูปแบบต่าง ๆ และ (2) ภาคธุรกิจ : แม้โดยรวมมีแนวโน้มฟื้นตัว แต่บางกลุ่มยังเปราะบางค่อนข้างมาก โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กที่มีหนี้สูงมากขึ้น ท่ามกลางปัญหาโครงสร้างของภาคการผลิตไทย SCB EIC ประเมินว่า แม้จะมีมาตรการการเงินเน้นช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางภาคครัวเรือนและธุรกิจมากขึ้น แต่ยังต้องใช้เวลากว่ามาตรการจะเห็นผลในวงกว้าง

SCB EIC มีมุมมองว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 1 ครั้งปลายปี 67 เหลือ 2.25% และปรับลดอีกครั้งเหลือ 2% ในช่วงต้นปี 68 จากแรงส่งอุปสงค์ในประเทศในระยะข้างหน้าที่อาจได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากฐานะครัวเรือนที่ยังเปราะบางและปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังมีอยู่ รวมถึงภาวะการเงินตึงตัวที่จะส่งผลกระทบชัดเจนขึ้น และความเสี่ยงเศรษฐกิจในปีหน้าที่จะปรับเพิ่มขึ้น

สำหรับค่าเงินบาทผันผวนสูงต่อเนื่องจากปัจจัยการเมืองในประเทศ และแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ช้าลงแม้ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเริ่มออกมาต่ำกว่าคาดการณ์ตลาด ในระยะสั้นคาดว่าเงินบาทจะแข็งค่าในกรอบ 35.80-36.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยจะทยอยแข็งค่าขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

ณ สิ้นปี 67 มองเงินบาทจะแข็งค่าในกรอบ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ด้านปัญหาภูมิรัฐศาสตร์จะสร้างความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นในโลก และยิ่งเร่งโลกแบ่งขั้ว (Decoupling) แต่จะเป็นโอกาสของภาคอุตสาหกรรมไทยได้ SCB EIC ประเมินว่า รูปแบบการค้าโลกกำลังจะเปลี่ยนไป เนื่องจากกลุ่มประเทศที่มีขั้วเศรษฐกิจต่างกันจะพึ่งพาการค้ากันลดลง และหันมาพึ่งพาประเทศที่มีบทบาทเป็นกลาง (Neutral stance) มากขึ้น ประเทศไทยซึ่งรักษาบทบาทเป็นกลางในเกมภูมิรัฐศาสตร์โลกจะได้รับประโยชน์จากการเบี่ยงเบนทางการค้าและการลงทุน (Trade and investment diversion) จากกลุ่มประเทศที่แบ่งขั้วกันมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ภาคอุตสาหกรรมไทยจะได้รับผลกระทบต่างกันใน 2 กลุ่ม คือ

(1) กลุ่มที่มีโอกาสได้รับประโยชน์จากการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ เช่น คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์และส่วนประกอบ

(2) กลุ่มที่มีความเสี่ยงทั้งจากผลกระทบที่สหรัฐฯ หันไปนำเข้าสินค้าจากประเทศคู่แข่งในภูมิภาคมากขึ้น หรือมีการแข่งขันรุนแรงกับประเทศที่เป็นกลางอื่น ๆ เช่น สิ่งทอ และอุปกรณ์ไฟฟ้า

ไทยจะคว้าโอกาสท่ามกลางโลกแบ่งขั้วรุนแรงขึ้นได้ ต้องมีนโยบายส่งเสริมการส่งออกและการปรับตัวธุรกิจเชิงรุก ซึ่งจะต้องออกแบบให้สอดคล้องกับบริบทเฉพาะของสินค้าแต่ละประเภทที่อาจได้หรือเสียประโยชน์แตกต่างกัน แบ่งได้ 4 กลุ่ม คือ

1) กลุ่มสินค้าที่ไทยผลิตเก่ง แต่แข่งขันสูง : นโยบายภาครัฐควรเน้นพัฒนาความสามารถในการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่ม และความได้เปรียบในการแข่งขัน ขณะที่ภาคธุรกิจต้องปรับตัวชูจุดแข็งของสินค้าและเจาะตลาดเป้าหมาย รวมถึงวางกลยุทธ์เพิ่มส่วนแบ่งตลาด และปรับสินค้าให้ทันเทรนด์โลก

2) กลุ่มสินค้าที่ไทยผลิตเก่ง และการแข่งขันไม่สูง : นโยบายภาครัฐควรสนับสนุนให้ผู้ส่งออกเปิดตลาดใหม่กระจายความเสี่ยง และยกระดับกระบวนการผลิตตามมาตรฐานความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ขณะที่ภาคธุรกิจต้องปรับตัวลดความเสี่ยงจาก Climate change และลงทุนพลังงานหมุนเวียน

3) กลุ่มสินค้าที่ไทยผลิตไม่เก่ง แต่การแข่งขันไม่สูง : นโยบายภาครัฐควรให้สิทธิประโยชน์จูงใจให้ดำเนินธุรกิจเดิม แต่ลงทุนเพิ่มศักยภาพการผลิต มุ่งตลาดส่งออกที่มีอยู่ ขณะที่ภาคธุรกิจควรปรับตัวเพิ่มศักยภาพเทคโนโลยีการผลิตและสร้างความเข้าใจในตลาดขั้วสหรัฐฯ และขั้วจีนเพื่อเข้าถึงความต้องการของตลาดได้ดีขึ้น

4) กลุ่มสินค้าที่ไทยผลิตไม่เก่ง และแข่งขันสูง : นโยบายภาครัฐควรช่วยให้ธุรกิจเปลี่ยนผ่านไปยังภาคการผลิตที่มีศักยภาพในการเติบโตบนห่วงโซ่การผลิตใหม่ได้ ขณะที่ภาคธุรกิจควรเร่งปรับตัวสู่ห่วงโซ่การผลิตใหม่และหาพันธมิตรด้านเทคโนโลยีสนับสนุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ