รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) เปิดเผยว่า ศาลปกครองกลาง ได้นัดฟังคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 752/2565 กรณี บมจ. สินมั่นคงประกันภัย (SMK) ยื่นฟ้องสำนักงาน คปภ. เพื่อเรียกค่าเสียหาย 4 หมื่นล้านบาท โดยศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาให้สำนักงาน คปภ. เป็นฝ่ายชนะคดี
"คำพิพากษาดังกล่าว ไม่เกินความคาดหมายของสำนักงาน คปภ. เนื่องจาก สำนักงาน คปภ. ออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ห้ามการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยโควิด เว้นแต่ปรากฏหลักฐานชัดเจนต่อบริษัท ว่าผู้เอาประกันภัยได้กระทำการทุจริตหรือฉ้อฉลประกันภัย เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์จากการประกันภัย"
โดยมูลเหตุสำคัญในการออกคำสั่งดังกล่าว เนื่องมาจากในช่วงกลางปี 2564 สถานการณ์โควิด 19 ระบาดอย่างหนัก บมจ. สินมั่นคงประกันภัยฯ ซึ่งเป็นบริษัทประกันภัยที่ขายประกันภัยโควิดแบบเจอ-จ่าย-จบ หรือ COVID 2 in 1 นับ 1,000,000 ฉบับ ได้ส่งหนังสือถึงลูกค้าของบริษัทฯ โดยกล่าวอ้างเหตุของการบอกเลิกสัญญา สรุปได้ว่าเป็นผลสืบเนื่องจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้ผู้เอาประกันภัยของบริษัทฯ ได้รับความเดือดร้อนเสียหายในช่วงเวลาที่เกิดโรคระบาดอย่างรุนแรง เกิดความตื่นตระหนกแก่ผู้เอาประกันภัยของบริษัทอื่น และกรมธรรม์อื่นว่าจะถูกบอกเลิกกรมธรรม์หรือไม่ และทำให้เกิดกระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์ธุรกิจประกันภัยในแง่ลบ
ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จึงมีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาไม่ให้ลุกลาม เพราะถ้าหาก บมจ.สินมั่นคงประกันภัยฯ สามารถบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิดได้เป็นผลสำเร็จ ก็สุ่มเสี่ยงที่จะถูกนำไปเป็นโมเดลให้กับบริษัทประกันภัยรายอื่น ๆ สามารถบอกเลิกกรมธรรม์ในลักษณะเดียวกันนี้ได้เช่นกัน ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างกับประชาชนที่ถือกรมธรรม์ประกันภัยโควิดรายอื่นทั้งหมดด้วย
สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย รวมทั้งมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านประกันภัยให้กับประชาชนผู้เอาประกันภัย จึงได้อาศัยฐานอำนาจที่มีอยู่ออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ห้ามการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยโควิด เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนที่ถือกรมธรรม์ประกันภัยโควิด 19 ทั้งระบบจำนวน 16 ล้านฉบับ มูลค่าสินไหมทดแทนเกือบ 100,000 ล้านบาท ให้ได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยต่อไปจนกว่าจะหมดอายุกรมธรรม์
นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. เล็งเห็นว่าหากปล่อยให้มีการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด 19 ในขณะที่สถานการณ์โควิดรุนแรงและประชาชนหาซื้อประกันภัยโควิด 19 ไม่ได้ ก็จะเป็นการปล่อยปละละเลยให้บริษัทผู้รับประกันภัยใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และเอาเปรียบประชาชนจนถึงขั้นอาจถูกมองได้ว่าเป็นการลอยแพประชาชนไปตามยถากรรม เนื่องจากหากประชาชนรู้ว่าจะถูกยกเลิกกรมธรรม์เมื่อเกิดภัย ก็คงไม่มีใครซื้อประกันภัยอย่างแน่นอน
"ดังนั้น คำพิพากษาในคดีนี้ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะถ้าหากสำนักงาน คปภ.เป็นฝ่ายแพ้คดี ก็อาจถูกนำไปใช้เป็นบรรทัดฐานใหม่ให้กับบริษัทผู้รับประกันภัย ใช้เป็นแนวทางบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยประเภทอื่น ๆ หากเห็นว่ารับประกันภัยไปแล้ว แต่มีแนวโน้มที่บริษัทผู้รับประกันภัย จะต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนมาก บริษัทผู้รับประกันภัยอาจใช้เป็นเหตุในการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยได้แบบเหมาเข่งในทุกกรณี ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในสารบบของธุรกิจประกันภัยทั่วโลกมาก่อน และอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อระบบประกันภัยในภาพรวมทั้งหมด"