นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยความคืบหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสมว่าสินค้าที่จำหน่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ จะสามารถเข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ตได้หรือไม่ โดยยอมรับว่าเรื่องดังกล่าวมีทั้งข้อดี และข้อเสียที่จะต้องมาพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยข้อดี คือสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์มีกลไกในการการันตีชัดเจนว่า จะมีการส่งสินค้าให้กับผู้ซื้ออย่างแน่นอน ส่วนรายละเอียดต่าง ๆ คงต้องหารือกันเพิ่มเติม
"ตอนนี้สินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ยังไม่สามารถเข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ตได้ ส่วนหนึ่งยังติดเรื่องการควบคุมพื้นที่ที่จะต้องไปพิจารณาตามเงื่อนไขของโครงการ แม้ว่าที่ผ่านมาแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ จะแสดงความต้องการอยากเข้าร่วมด้วย และยืนยันว่าสามารถดำเนินการได้ตามเงื่อนไขของโครงการได้ก็ตาม ดังนั้น ตอนนี้โครงสร้างของดิจิทัลวอลเล็ตทุกอย่างจึงยังเหมือนเดิม" นายจุลพันธ์ กล่าว
นอกจากนี้ ในส่วนที่ได้สั่งให้มีการทบทวนการกำหนดสินค้าที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ (Negative List) โดยเฉพาะสินค้า Import Content อาทิ สมาร์ทโฟน และเครื่องใช้ไฟฟ้านั้น ส่วนหนึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับประเด็นนี้ค่อนข้างมาก ขณะเดียวกัน คลังก็เห็นว่าควรจะให้มีการพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบอีกครั้ง
ทั้งนี้ เนื่องจากวัตถุประสงค์ของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต มี 3 มิติ คือ 1. มิติของการผลิตและการจ้างงานในประเทศชะลอตัว 2. มิติของความง่ายสำหรับประชาชนในการใช้งาน ที่มองว่ายิ่งเปิดกว้างเท่าไหร่ ประชาชนก็จะยิ่งใช้งานง่ายมากขึ้นเท่านั้น และ 3. มิติของการกำกับดูแลว่าจะสามารถควบคุมการใช้จ่ายให้เป็นไปตามเงื่อนไขของโครงการฯ ได้จริงหรือไม่ โดยทั้งหมดต้องมาชั่งน้ำหนักกันใหม่ จึงสั่งให้ส่วนงานกลับไปทบทวน และกลับมาหารือกันอีกครั้งในสัปดาห์หน้า
"ในที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต จึงได้สั่งให้ส่วนงานกลับไปพิจารณาประเด็นเรื่อง Import Content ใหม่ โดยเฉพาะเรื่องสมาร์ทโฟน ที่บางหน่วยงานก็มองว่ามันเป็นปัจจัยที่ 5 เพราะปัจจุบันคนใช้ทำมาหากิน แต่อีกมุมก็มองว่าคนที่จะใช้เงินในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ก็ต้องมีสมาร์ทโฟน ก็ต้องไปพิจารณาเรื่องนี้กันใหม่ให้รอบคอบอีกครั้ง" นายจุลพันธ์ กล่าว
สำหรับประเด็นเรื่องการส่งเรื่องให้สำนักงานกฤษฎีกาพิจารณาเรื่องการนำเงินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 1.75 แสนล้านบาท มาใช้รองรับการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนั้น ขณะนี้ยังไม่ถึงเวลา โดยระยะเวลาการดำเนินการในแต่ละขั้นตอนมีการพิจารณาและติดตามอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งอยากให้ทุกฝ่ายเข้าใจว่า กลไกความเป็นรัฐมีตัวเลือกเกี่ยวกับเครื่องมือทางการเงินมากมาย ซึ่งมีการพิจารณาเรื่องความเหมาะสมและเป็นไปได้ทุกอย่างแล้ว
"ที่ผ่านมาได้มีการพูดคุยกับสหภาพ ธ.ก.ส. ก็เป็นไปด้วยดี ไม่ได้มีปัญหาอะไร โดยทุกคนต้องเข้าใจว่า ธ.ก.ส. เป็นหน่วยงานของรัฐ ดังนั้น กลไกในการขับเคลื่อนนโยบายที่จะลงไป ถ้าอยู่ในกรอบอำนาจหน้าที่ก็เป็นภาระหน้าปกติที่ ธ.ก.ส. จะต้องดำเนินการช่วยเหลือประชาชน และยืนยันว่าสภาพคล่องของ ธ.ก.ส. ไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน" นายจุลพันธ์ กล่าว