วิจัยกสิกรฯ หั่น GDP ปี 67 เหลือโต 2.6% ส่งออกฟื้นช้า, บริโภค-ลงทุนภาครัฐต่ำกว่าคาด

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 20, 2024 10:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

วิจัยกสิกรฯ หั่น GDP ปี 67 เหลือโต 2.6% ส่งออกฟื้นช้า, บริโภค-ลงทุนภาครัฐต่ำกว่าคาด

น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ลงมาอยู่ที่ 2.6% ชะลอตัวจากระดับ 2.8% ที่เคยคาดการณ์ไว้เดิม ตามการลงทุน และการใช้จ่ายภาครัฐที่ต่ำกว่าคาด ประกอบกับการส่งออกไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด

"คาดว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 67 จะเติบโตได้ 3.6% จากครึ่งปีแรกที่คาดว่าเติบโตได้ 1.6% ส่งผลให้ภาพรวมทั้งปี 67 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ราว 2.6%"

ทั้งนี้ ทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 67 มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น ตามการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ และการส่งออกที่ขยายตัวเป็นบวกมากขึ้น จากปัจจัยฐานต่ำในปี 66 แต่อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น การระบายสินค้าจากกำลังการผลิตส่วนเกินจากจีนมายังตลาดโลก รวมถึงไทย ในขณะที่ปัญหาเชิงโครงสร้าง และความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง มีผลให้ส่งออกไทยฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดการณ์

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในปี 2567 การส่งออกของไทยจะขยายตัวอยู่ที่ 1.5% ต่ำกว่าที่เคยประมาณการไว้เดิมที่ 2.0% จากปัญหาเชิงโครงสร้างและความสามารถทางการแข่งขันที่ลดลง ส่งผลให้การส่งออกไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า และได้รับอานิสงส์จากการค้าโลกที่ฟื้นตัวในปีนี้ไม่มากเท่าที่ควร โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่เป็นประเด็นต่อเนื่อง

น.ส.ณัฐพร กล่าวถึงอัตราเงินเฟ้อของไทยด้วยว่า แม้ว่าเงินเฟ้อล่าสุดในเดือนพ.ค. จะพลิกกลับมาเป็นบวก 1.5% แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงคาดการณ์อัตราเงินของไทยทั้งปีนี้ ไว้ที่ 0.8% โดยมองว่าทิศทางเงินเฟ้อช่วงครึ่งปีหลัง จะเห็นการชะลอตัวลง และหากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีฐานที่สูง จะเห็นภาพของการชะลอเงินเฟ้อมากขึ้นในครึ่งปีหลังนี้ โดยปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาก และหากไม่รวมสินค้าประเภทอาหารสดและพลังงาน ก็จะยังเห็นว่าเงินเฟ้อมีการชะลอตัวอยู่ จึงทำให้มุมมองการที่เงินเฟ้อจะปรับเพิ่มไปที่กรอบบน 3% นั้นมีความเป็นไปได้ยากมาก

ขณะเดียวกัน ต้องติดตามเรื่องของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท/วัน ว่าจะได้ข้อสรุปอย่างไรในช่วงไตรมาส 3/67 รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลว่าจะส่งผลอย่างไรต่อทิศทางของเงินเฟ้อ

ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น ยังคงคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% ไปตลอดทั้งปีนี้ หากเศรษฐกิจไทยยังไม่เผชิญกับปัจจัยรุนแรงที่ฉุดให้เศรษฐกิจตกลงอย่างมากในช่วงครึ่งปีหลัง รวมถึงการคาดการณ์การปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่คาดการณ์ว่าจะลดดอกเบี้ยสหรัฐในปีนี้เพียงครั้งเดียว หรืออาจจะไม่ลดดอกเบี้ยลงเลย จากเดิมที่คาดว่าจะลดดอกเบี้ยลง 2 ครั้งในปีนี้ ซึ่งยังมองว่าหากเฟดลดดอกเบี้ย 1 ครั้ง จะลดครั้งแรกในการประชุมเดือนธ.ค.นี้ หลังผ่านการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐไปแล้ว

โดยท่าทีของเฟดที่ยังคงดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงต่อเนื่อง ทำให้ทิศทางค่าเงินบาทในปีนี้ มีแนวโน้มเคลื่อนไหวอยู่ที่ 36-37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหากเฟดไม่ลดดอกเบี้ยเลยในปีนี้ ค่าเงินบาทก็จะยืนใกล้ระดับกรอบบนที่ 37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐต่อเนื่อง แต่หากเฟดลด 1 ครั้งในปีนี้ เงินบาทก็อาจจะลงมาใกล้ระดับ 36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หรือมีโอกาสแข็งค่าขึ้นมาแตะ 35 บาท/ดอลาร์สหรัฐก็เป็นได้ แต่ก็ต้องติดตามทิศทางของกระแสเงินทุน (Fund Flow) ว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งมีผลต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงิน

*ส่อง 3 ปัจจัยกดดันอุตสาหกรรมไทย

น.ส.เกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวถึงแนวโน้มภาคอุตสาหกรรมไทยว่า ได้ให้น้ำหนักกับ 3 ปัจจัย ที่จะมีผลกระทบกับภาคอุตสาหกรรมในช่วงข้างหน้า ได้แก่ 1. ความไม่แน่นอนของการเบิกจ่ายภาครัฐ ที่จะกระทบอุตสาหกรรมก่อสร้าง 2. สินค้านำเข้าที่ไหลเข้าไทยเพิ่มขึ้น จากผลของสงครามการค้า ซึ่งจะกระทบกับสินค้าในกลุ่มอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, รถยนต์ และเหล็ก 3. ต้นทุนทางธุรกิจเพิ่มขึ้น ทั้งราคาน้ำมันดีเซลที่ภาครัฐทยอยลดการอุดหนุน และค่าแรงที่มีทิศทางสูงขึ้น จะกระทบต่อ SMEs โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้แรงงานเข้มข้น

อย่างไรก็ดี เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ภาครัฐควรเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ กวดขันสินค้านำเข้า และสนับสนุนการใช้วัตถุดิบในประเทศ (Local Content) รวมถึงเติมสภาพคล่องให้กับ SMEs และเน้นวางแผนการจัดการน้ำ ขณะเดียวกัน ถึงเวลาที่ทุกภาคส่วนจะต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจขนานใหญ่ ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพในทุกมิติ ทำให้รายได้เติบโตเร็วกว่าการเพิ่มขึ้นของต้นทุน

*แนะไทยเร่งแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง อย่ารอวิกฤต

ขณะที่ นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า แม้ที่ผ่านมาเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะให้ภาพแรงส่งของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่แข็งแรงกว่าคาด จนตลาดปรับการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยังไม่ลดอัตราดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้ หรือ Higher for Longer นั้น แต่ก็มีประเด็นที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากในระยะหลัง ได้แก่ นโยบายภาษีของสหรัฐฯ และยุโรปที่กีดกันอุตสาหกรรม Cleantech ของจีน ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้า, แบตเตอรี่ และแผงโซลาร์ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการย้ายฐานการผลิตในภูมิภาคยุโรป อาเซียน และอเมริกาใต้

ขณะที่หากนายโดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกครั้ง กลยุทธ์ของจีนในการกระจายความเสี่ยงทางการค้า เช่น China+1 ที่ขยายฐานการผลิตออกจากจีนไปยังประเทศอื่น ๆ เพื่อเลี่ยงกำแพงภาษีทางการค้า ก็มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบ ดังนั้น ไทยต้องจับกระแสประเด็นการเปลี่ยนแปลงนี้ เพื่อที่ภาคอุตสาหกรรมของไทยจะสามารถปรับทิศทางได้อย่างทันท่วงที

นายบุรินทร์ กล่าวว่า การที่ประเทศไทยจะสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนใหม่จากต่างชาติเข้ามาได้นั้น จะต้องมีการปรับโครงสร้างด้านต่าง ๆ ของประเทศให้มีความทันสมัยมากขึ้น ให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ และเทคโนโลยี ซึ่งสิ่งแรกที่ประเทศไทยจะต้องทำ คือ การแก้ไขกฎหมายให้มีความทันสมัยมากขึ้น เพราะกฎหมายที่ใช้ในปัจจุบันเป็นกฎหมายเก่า ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนมานาน ทำให้นักลงทุนต่างชาติจะเข้ามาลงทุนมีข้อติดขัดในเรื่องกฎหมาย และสุดท้ายก็หันไปลงทุนในประเทศอื่นที่มีกฎหมายเอื้อต่อการลงทุนที่สะดวกกว่า

"ปัญหาของกฎหมายที่เก่า นอกจากจะไม่เอื้อต่อการลงทุนแล้ว ยังทำให้ยากต่อการดึงบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ และมีความสามารถจากต่างประเทศให้เข้ามาทำงานในประเทศไทย คนต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญ มีความเก่ง มีความสามารถ จะไม่สนใจเข้ามาทำงานในประเทศไทย และเลือกไปทำงานในประเทศอื่นแทน ทำให้ประเทศไทยขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ และมีความสามารถเข้ามาร่วมงานในการพัฒนาศักยภาพของประเทศ และการพัฒนาธุรกิจใหม่ ๆ ที่เป็นโอกาส ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศไทยจะต้องทำในการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อขับเคลื่อนศักยภาพ และการเติบโตของประเทศ" นายบุรินทร์ กล่าว

นายบุรินทร์ ยังมองว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันและช่วงที่ผ่านมา เปรียบเสมือนคนนอนป่วย แต่ยังไม่ถึงกับตาย มีช่วงที่ป่วยหนักและมีอาการดีขึ้นมา จากการที่รัฐบาลไม่ได้แก้ปัญหาต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะปัญหาเชิงโครงสร้าง และปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาก็ต่อเมื่อเกิดวิกฤตขึ้น

"ต้องรอวิกฤตเกิดก่อน ถึงจะเข้ามาแก้ปัญหา ขาดการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เศรษฐกิจมีการเติบโตน้อยลง จาก 5% ลงมาเหลือ 3% และใน 10 ปีข้างหน้า หากยังไม่มีการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เศรษฐกิจไทยอาจมีโอกาสเติบโตเพียงแค่ 2% หรือต่ำกว่า 2% ก็เป็นไปได้" นายบุรินทร์ ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ