ส่งออกไทยพ.ค.ขยายตัว 7.2% คาดโตต่อเนื่อง พลิกเกินดุลครั้งแรกใน 5 เดือน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 21, 2024 14:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ส่งออกไทยพ.ค.ขยายตัว 7.2% คาดโตต่อเนื่อง พลิกเกินดุลครั้งแรกใน 5 เดือน

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนพ.ค.67 พบว่า การส่งออก มีมูลค่า 26,219.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.2% โดยขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และถือเป็นมูลค่าการส่งออกที่สูงสุดในรอบ 14 เดือน ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 25,563.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 1.7%

ส่งผลให้เดือนพ.ค. ไทยเกินดุลการค้า 656.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นการกลับมาเกินดุลครั้งแรกในรอบ 5 เดือน โดยได้รับแรงหนุนสำคัญจากการส่งออกสินค้าเกษตร เนื่องจากเป็นเดือนที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก ทั้งทุเรียน มังคุด ลำไย และมะม่วง ขณะเดียวกันภาคการผลิตของโลกฟื้นตัวได้ดี

ส่งออกไทยพ.ค.ขยายตัว 7.2% คาดโตต่อเนื่อง พลิกเกินดุลครั้งแรกใน 5 เดือน

นอกจากนี้ การที่ไทยกลับมาเกินดุลการค้า ยังมีสาเหตุมาจากการนำเข้ารถ EV ลดลง จึงส่งผลให้มูลค่านำเข้าโดยรวมลดลง ซึ่งในเดือนพ.ค.นี้ มูลค่าการนำเข้ายานยนต์ และชิ้นส่วนอุปกรณ์ ลดลง 2%

"ในเดือนพ.ค.นี้ ไทยกลับมาเกินดุลการค้าครั้งแรกในรอบ 5 เดือน หลัก ๆ มาจากมูลค่านำเข้ารถ EV ลดลง จึงทำให้มูลค่าการนำเข้าโดยรวมของเดือนพ.ค.นี้ลดลง" นายพูนพงษ์ นัยนาภรกรณ์ ผู้อำนวยการ สนค.ระบุ

ขณะที่ช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-พ.ค. 67) การส่งออกของไทย มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 120,493.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 2.6% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 125,954.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.5% ส่งผลให้ยังคงขาดดุลการค้า 5,460.7 ล้านเหรียญสหรัฐ

พร้อมประเมินว่า การส่งออกเดือนมิ.ย. จะยังเป็นบวกได้ต่อเนื่อง และทำให้ช่วงครึ่งแรกของปีนี้ การส่งออกไทยจะขยายตัวได้ราว 2%ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ยังคงเป้าหมายการส่งออกของไทยในปีนี้ไว้ที่ 1-2%

*สินค้าเกษตร-อุตสาหกรรมเกษตร,สินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวต่อเนื่อง

ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า ในเดือนพ.ค.นี้ หากแยกการส่งออกเป็นรายกลุ่มสินค้า จะพบว่า การส่งออกสามารถขยายตัวได้ในทุกกลุ่มสินค้า

สินค้าเกษตร มีมูลค่าการส่งออก 3,155.9 ล้านเหรียญสหรัฐ กลับมาขยายตัวถึง 36.5% โดยสินค้าเกษตรที่ขยายตัวดี ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็นแช่แข็ง และแห้ง, ยางพารา, ไก่แปรรูป

สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร มีมูลค่าการส่งออก 2,149.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 0.8% เป็นการขยายตัว 2 เดือนต่อเนื่อง โดยสินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ ไขมัน-น้ำมัน จากพืชและสัตว์, อาหารสัตว์เลี้ยง, นมและผลิตภัณฑ์นม, ผลไม้กระป๋องและแปรรูป, สิ่งปรุงรสอาหาร

สินค้าอุตสาหกรรม มูลค่าการส่งออก 19,984.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.6% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยสินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ, เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ, ทองแดง และของทำด้วยทองแดง, ไม้ และผลิตภัณฑ์ไม้, เครื่องจักรกล และส่วนประกอบ

*ตลาดส่งออกขยายตัวดีขึ้น สอดคล้องเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า

ขณะที่ตลาดส่งออกสำคัญส่วนใหญ่ขยายตัว สอดคล้องกับเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่มีทิศทางดีขึ้น และแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการผลิตโลก โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดจีนที่กลับมาขยายตัวในรอบ 4 เดือน และตลาดสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา, ลาว, เมียนมา, เวียดนาม) ที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง

สำหรับตลาดส่งออกของไทย ที่ขยายตัวสูงสุด 10 อันดับแรก ในเดือนพ.ค.67 ได้แก่ อันดับ 1 จีน ขยายตัว 31.2% อันดับ 2 สวิตเซอร์แลนด์ ขยายตัว 28.1% อันดับ 3 ฮ่องกง ขยายตัว 25.1% อันดับ 4 เอเชียใต้ ขยายตัว 22.4% อันดับ 5 ลาตินอเมริกา ขยายตัว 14.8% อันดับ 6 ไต้หวัน ขยายตัว 11.3% อันดับ 7 CLMV ขยายตัว 9.6% อันดับ 8 สหรัฐฯ 9.1% อันดับ 9 กลุ่ม CIS ขยายตัว 2.7% และอันดับ 10 แคนาดา ขยายตัว 2.5%

ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า การส่งออกของไทยในปี 2567 จะยังเติบโตได้ดี โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่ช้าแต่มั่นคง โดยการประเมินขององค์การการค้าโลก (WTO) ระบุว่าปริมาณการค้าโลกจะขยายตัว 2.6% จากปีก่อน จากปัญหาเงินเฟ้อที่บรรเทาเบาบางลง และท่าทีของธนาคารกลางแต่ละประเทศที่มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน และการผลิตโลกให้ฟื้นตัวอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี ยังมีความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมทั้งปัญหาค่าระวางเรือที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นในบางเส้นทาง ซึ่งอาจเป็นปัจจัยลบต่อการส่งออกไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ นอกจากนี้ ผลการเลือกตั้งของแต่ละประเทศ ยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะอาจส่งผลต่อนโยบายการค้าที่มีต่อการค้าระหว่างประเทศของไทยด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ