นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี หารือประเด็นปัญหาและการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ เพื่อรองรับการลงทุนในพื้นที่ EEC พร้อมติดตามพื้นที่ก่อสร้างโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โดยกำชับเลขาธิการ EEC ให้เร่ง Megaproject รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ให้แล้วเสร็จพร้อมโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา หวังดึงภาคอุตสาหกรรมร่วมลงทุน พื้นที่ EEC
"ประมาณสิ้นเดือนกรกฎาคม จะมีข่าวดีเรื่องของ 3 สนามบิน ขอให้มาพูดคุยและทำให้ทุก ๆ โครงการเดินหน้าได้ ยืนยันว่าสนามบินอู่ตะเภาเป็น Megaproject ที่มีมีความสำคัญอย่างยิ่งกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเมื่อวานนี้ ได้ลงพื้นที่ไปพัทยา และได้ดูเกี่ยวกับการกระตุ้นเศรษฐกิจเรี่องการจัดมหกรรมคอนเสิร์ตต่าง ๆ รวมถึงเรื่องของเฟสติวัลต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอีก Eastern Seaboard ถ้าเกิดไม่มีสนามบิน ก็จะทำให้ลำบากมากขึ้น" นายกรัฐมนตรี กล่าว
นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี มอบนโยบายว่า โครงการ EEC เป็น Megaproject ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ยอมรับว่ามีความล่าช้าบ้าง แต่จะต้องลงมืออย่างเร่งด่วน เพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
"รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของการเชื่อมโยง 3 สนามบิน ซึ่งโครงการนี้ควรเร่งสร้างตั้งแต่ปี 2564 แต่ติดปัญหาโควิด ทำให้ไม่เป็นไปตามที่วางแผนไว้ และพฤติกรรมหลังโควิด ผู้บริโภคและนักท่องเที่ยวมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้กระทบต่อตัวเลขวงเงินที่มีการทำสัญญาไว้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการต่อรองให้เกิดความชอบธรรม"
พร้อมกันนี้ นายกฯ ได้สอบถามถึงความคืบหน้าสัญญาของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินว่า ระยะเวลาของสัญญาที่ต่อรองไว้ดำเนินการพูดคุยให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีได้หรือไม่ และกำชับขออย่าให้ปัญหาลุกลาม เพราะหากสร้างสนามบินเสร็จแล้วรถไฟยังไม่มา ก็จะเกิดปัญหาตามมาได้ และเชื่อว่าหลายฝ่ายจะหารือกันได้ด้วยดี
ขณะที่นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รายงานความคืบหน้าโครงการก่อสร้างพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออกว่า ปัจจุบันมีความก้าวหน้าโดยเฉพาะงานด้านระบบสาธารณูปโภคที่สำคัญ เช่น ระบบไฟฟ้าและน้ำเย็น ก่อสร้างแล้ว 26.42% ระบบบริการเติมเชื้อเพลิงอากาศยาน ก่อสร้างแล้ว 48.41% งานด้านประปาและบำบัดน้ำเสีย ก่อสร้างแล้ว 98.44% เป็นต้น
ส่วนความคืบหน้าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่ร่วมทุนกับภาคเอกชนนั้น คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในปี 2567 เพื่อเริ่มก่อสร้างงานสำคัญ เช่น อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 อาคารเทียบเครื่องบินรอง และศูนย์ธุรกิจการค้า ซึ่งคาดว่าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ จะสามารถเปิดให้บริการในปี 2572
สำหรับความคืบหน้าการลงทุนในพื้นที่ EEC ขณะนี้ มีภาคเอกชนได้เข้ามาหารือกับ EEC และสนใจใช้สิทธิประโยชน์ตามประกาศสิทธิประโยชน์ฉบับใหม่อยู่กว่า 30 ราย วงเงินลงทุนรวมกว่า 2.1 แสนล้านบาท ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรม ที่ได้ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC ได้แก่ อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ, อุตสาหกรรมบริการ, อุตสาหกรรมดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์, อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และอุตสาหกรรม BCG โดย EEC ได้ตั้งเป้าหมายดึงเม็ดเงินลงทุนจริงให้ได้ปีละ 1 แสนล้านบาท ต่อเนื่อง 5 ปี ตั้งแต่ ปี 2567-2571
จากนั้น ในช่วงบ่ายวันนี้ นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะจะลงพื้นที่ติดตามเรื่องของไซต์งานต่าง ๆ ทั้งเรื่อง Formula 1 ซึ่งถือว่าเป็นเมกกะโปรเจ็คท์ระดับโลก เพราะเป็น Event ที่สามารถดึงดูดนักนักท่องเที่ยวเข้าประเทศได้กว่า 100,000 คน