ส่งออกไทยฟื้นจริงหรือ? ความเสี่ยงบนเส้นด้าย หลัง Trade War สหรัฐ-จีน ปะทุ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 24, 2024 12:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ส่งออกไทยฟื้นจริงหรือ? ความเสี่ยงบนเส้นด้าย หลัง Trade War สหรัฐ-จีน ปะทุ

Krungthai COMPASS ประเมินว่า การส่งออกของไทยในระยะข้างหน้า ยังมีความไม่แน่นอนจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่กลับมารุนแรงขึ้น โดยการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ต่อสินค้าจีนที่จะเริ่มมีผลตั้งแต่ 1 ส.ค.67 ทำให้มีการเร่งส่งออกสินค้าจีนไปยังตลาดสหรัฐฯมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมีผลกระทบต่อการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และอาจเป็นปัจจัยกดดันต่อการส่งออกในระยะข้างหน้า

โดยสะท้อนจากค่าระวางเรือ ตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุต (Drewry World Container Index) ล่าสุดวันที่ 20 มิ.ย.67 ที่ปรับเพิ่มขึ้นมาสู่ 5,117 ดอลลาร์/ตู้ จากเดือน เม.ย.67 ที่ระดับ 2,706 ดอลลาร์/ตู้ หรือเพิ่มขึ้นราว 90% ซ้ำเติมค่าระวางเรือที่ปรับสูงมาก่อนหน้านี้จากปัญหาวิกฤตทะเลแดง นอกจากนี้ ภาคการผลิตของประเทศเศรษฐกิจหลักยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้า โดยเฉพาะยุโรป และญี่ปุ่น สะท้อนจากดัชนี Flash Manufacturing PMI ที่ยังอ่อนแอ

สำหรับการส่งออกเดือนล่าสุด พ.ค.67 ขยายตัวเร่งขึ้นจากปัจจัยชั่วคราว โดยมูลค่าการส่งออกเดือน พ.ค.67 เติบโต 7.2% เร่งขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเม.ย. ที่เติบโต 6.8% โดยมีแรงหนุนจากการส่งออกผลไม้ที่เติบโต 128% ตามการส่งออกทุเรียนไปจีน ซึ่งขยายตัวราว 220% เนื่องจากปีนี้ผลผลิตออกสู่ตลาดล่าช้ากว่าปีก่อน จากสภาพภูมิอากาศที่ร้อนกว่าปกติ ประกอบกับการส่งออกทองคำที่กลับมาขยายตัวดี ทำให้โดยรวมการส่งออกเดือน พ.ค. ขยายตัวดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม เริ่มเห็นการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มีสัญญาณที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 จากหมวดคอมพิวเตอร์ และหมวดโทรศัพท์ ที่ขยายตัวดีตามการส่งออกไปสหรัฐฯ เป็นสำคัญ

ขณะที่มูลค่าการนำเข้าเดือน พ.ค.67 อยู่ที่ 25,563.3 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัว 1.7% เทียบจากเดือนเม.ย. ที่ขยายตัว 8.3% จากการนำเข้าสินค้าทุน (-7.5%) ที่กลับมาหดตัว และสินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง (-27.7%) หดตัวต่อเนื่อง ขณะที่การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (+2.4%) สินค้าอุปโภคบริโภค (+2.1%) และสินค้าเชื้อเพลิง (+1.5%) ขยายตัว

ทั้งนี้ ดุลการค้าเดือน พ.ค.67 กลับมาเกินดุลครั้งแรกในรอบ 5 เดือนที่ 656.1 ล้านดอลลาร์ฯ ส่วนดุลการค้า 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.) ขาดดุล 5,460.7 ล้านดอลลาร์ฯ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ