ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินว่ามูลค่าการส่งออกในเดือน มิ.ย. มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับมุมมองของกระทรวงพาณิชย์ โดยมองว่ามูลค่าการส่งออกไทยปีนี้ จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ 2.6% จากแรงสนับสนุนหลายด้าน ได้แก่
1. เศรษฐกิจโลกในปี 67 ที่มีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงปีก่อนที่ 2.7% โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปรับดีขึ้นมากจากอุปสงค์ในประเทศเติบโตดี จีนปรับดีขึ้นเช่นกันจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อินเดีย และอาเซียนขยายตัวดี แม้ยูโรโซน และญี่ปุ่น ยังเติบโตต่ำ
2. ภาคการผลิตที่เกี่ยวเนื่องกับการค้าระหว่างประเทศ จะกลับมามีบทบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกมากขึ้นในปีนี้ จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตโลกอยู่เหนือระดับ 50 ต่อเนื่อง 3 เดือนหลังจากหดตัวมานาน นอกจากนี้ ดัชนี PMI ยอดคำสั่งซื้อใหม่ในภาคการผลิตจากต่างประเทศ (Export order) ปรับเพิ่มขึ้นเหนือระดับ 50 ต่อเนื่อง 2 เดือน หลังจากหดตัวมานานกว่า 2 ปี รวมถึงดัชนี PMI ปริมาณผลผลิตภาคการผลิตในอนาคต (Future output) ขยายตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีก่อน สะท้อนการขยายตัวของภาคการผลิตโลกในระยะข้างหน้า
3. ราคาสินค้าส่งออกที่ดี เช่น ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามปริมาณผลผลิตในตลาดโลกที่ลดลงจากภัยแล้ง และนโยบายควบคุมการส่งออกสินค้าในบางประเทศ รวมถึงราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูง ตามความเสี่ยงการโจมตีโรงกลั่นน้ำมันรัสเซียจากยูเครน ความไม่แน่นอนของความขัดแย้งในตะวันออกกลาง รวมถึงความต้องการใช้น้ำมันโลกที่เพิ่มขึ้นตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก
4. แนวโน้มการส่งออกสินค้าหลายชนิดที่หดตัวในไตรมาสแรก จะพลิกกลับมาขยายตัวได้ในช่วงที่เหลือของปี เช่น ปิโตรเคมี เครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ รวมถึงสินค้าหลายชนิดที่ขยายตัวได้ในช่วงไตรมาสแรก และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี โดยเฉพาะยางธรรมชาติ ทูน่า เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์
SCB EIC ยังประเมินด้วยว่า มูลค่าการส่งออกของไทยในปี 2568 จะขยายตัวได้ราว 2.6% ใกล้เคียงกับปีนี้ โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากเศรษฐกิจโลก ที่มีแนวโน้มเติบโตใกล้เคียงปีนี้ โดยเศรษฐกิจอาเซียนมีแนวโน้มเติบโตเร่งขึ้น อินเดียยังเติบโตสูง แม้จะชะลอเล็กน้อย ญี่ปุ่น และยูโรโซนฟื้นตัวดีขึ้น แต่ยังไม่สดใสนัก ขณะที่จีนมีแนวโน้มเติบโตต่ำลงจากปัญหาเชิงโครงสร้าง และสหรัฐฯ มีแนวโน้มเติบโตชะลอลง
นอกจากนี้ ปริมาณการค้าโลกยังมีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นในปี 2568 ตามการประเมินขององค์กรระหว่างประเทศหลายแห่ง เช่น องค์การการค้าโลก (WTO) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (World Bank)
อย่างไรก็ดี ปริมาณการค้าโลกในปี 2568 ยังต้องเผชิญความเสี่ยงสำคัญ โดยเฉพาะ
1. ผลการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มจะทำให้สหรัฐฯ เป็น Protectionism ใช้เครื่องมือกีดกันทางการค้าเพิ่มขึ้น เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตในประเทศ อีกทั้ง หากโดนัล ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง จะมีความเสี่ยงเพิ่มเติมให้สหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีสินค้านำเข้าทุกประเภทจากทุกประเทศ 10% ตามที่หาเสียงไว้
2. ผลการเลือกตั้งในสหภาพยุโรป สะท้อนว่าความนิยมพรรคฝ่ายขวาจัดเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่กลุ่มพรรคซ้าย-กลางสูญเสียที่นั่ง จะมีนัยต่อนโยบายสหภาพยุโรปในระยะข้างหน้าที่เป็นชาตินิยมมากขึ้น โดยเฉพาะนโยบายการค้า ที่อาจพิจารณาประเด็นภูมิรัฐศาสตร์มากขึ้น เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันกับประเทศคู่ค้าสำคัญ อย่างจีน และสหรัฐฯ และอาจเปลี่ยนมาสนับสนุนและปกป้องตลาดและอุตสาหกรรมสำคัญในสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น
3. สงครามรัสเซีย-ยูเครน และสงครามอิสราเอล-ฮามาสที่ยังไม่สิ้นสุด
4. ปัญหา China overcapacity ที่ทำให้จีนส่งออกตลาดโลกเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่อุปสงค์ในประเทศที่ยังซบเซา ทำให้สินค้านำเข้าเจาะตลาดจีนได้น้อยกว่า ส่งผลให้ดุลการค้าจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และอาจทำให้หลายชาติใช้มาตรการกีดกันการค้ากับจีนมากขึ้น
"ภาคการส่งออกของไทย มีแนวโน้มจะไม่ได้รับอานิสงส์จากการค้าโลกที่ขยายตัวเร่งขึ้นเท่าที่ควร โดยมีข้อสังเกตว่า การส่งออกไทยในช่วงที่ผ่านมา ฟื้นตัวสอดคล้องกับปริมาณการค้าโลกน้อยลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาคการผลิตสินค้าของไทย ยังพึ่งพาอุตสาหกรรมเก่า และปรับตัวผลิตสินค้าตามความต้องการใหม่ ๆ ของโลกได้ไม่เต็มที่นัก SCB EIC จึงประเมินมูลค่าการส่งออกในปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวไม่สูงมากที่ 2.6% ใกล้เคียงปีนี้" บทวิเคราะห์ ระบุ