นางปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2567 และแนวโน้มในปี 2568 ว่า ธปท. คาดว่าในปี 2567 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ราว 2.6% ซึ่งภาพรวมของเศรษฐกิจไทยปีนี้ มีแนวโน้มขยายตัวได้จากอุปสงค์ในประเทศ รวมทั้งภาคการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะอยู่ที่ 35.5 ล้านคน
นอกจากนี้ แรงส่งเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ยังมาจากการใช้จ่ายภาครัฐ ที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567 เริ่มมีผลบังคับใช้ได้ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 ทำให้ภาครัฐสามารถเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณได้มากขึ้น อีกทั้งเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวในภาคการผลิต และการส่งออกบางหมวดสินค้า อย่างไรก็ดี ยังคงมีความไม่แน่นอน ซึ่งต้องติดตามพัฒนาการในระยะต่อไป
นางปราณี คาดว่าในปีนี้ การส่งออกของไทย จะขยายตัวได้ 1.8% โดยสินค้าส่งออกที่ยังมีอนาคตดี ได้แก่ สินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (ไม่รวมฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ) แต่การส่งออกสินค้าในกลุ่มยานยนต์ และ solar cells ยังมีความเสี่ยงเพิ่มเติม ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมมีสัญญาณ bottom out หรือฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดมาแล้ว แต่การฟื้นตัวของแต่ละกลุ่มสินค้ายังไม่เท่ากัน เนื่องจากปัจจัยเชิงวัฎจักรและปัจจัยเชิงโครงสร้าง ได้แก่ ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ, สิ่งทอ-เครื่องนุ่งห่ม, ปิโตรเคมี และเหล็กขั้นมูลฐาน เป็นต้น
"การส่งออก และการผลิตแม้จะยังเติบโตต่ำ จากปัญหาเชิงโครงสร้างในเรื่องขีดความสามารถทางการแข่งขัน แต่คาดว่าตั้งแต่ครึ่งปีหลัง การส่งออกจะทยอยดีขึ้น จากอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัว และวัฎจักรอิเล็กทรอนิกส์ แต่ก็ยังต้องเผชิญกับการแข่งขันจากสินค้าจีน...แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า จะมีความสมดุลมากขึ้น จากการใช้จ่ายภาครัฐ และการส่งออกที่กลับมาดีขึ้น" นางปราณี กล่าว
ทั้งนี้ ธปท.ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในแต่ละไตรมาสที่เหลือของปีนี้ จะทยอยฟื้นตัวได้ดีขึ้นจากไตรมาสแรกที่ขยายตัวได้ 1.5% โดยคาดว่า เศรษฐกิจไตรมาส 2 จะขยายตัวได้ราว 2% ส่วนไตรมาส 3 ขยายตัวได้ราว 3% และไตรมาส 4 จะขยายตัวได้ราว 4% และคาดว่าในปี 2568 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.0% ใกล้เคียงกับระดับศักยภาพ ขณะที่การส่งออก คาดว่าขยายตัวได้ 2.6%
นางปราณี ยังกล่าวถึงข้อเสนอในการทำนโยบายการเงินให้เงินบาทอ่อนค่า เพื่อช่วยเอื้อต่อการส่งออกของไทยว่า การทำให้ค่าเงินอ่อน อาจไม่ได้ช่วยทำให้การส่งออกดีขึ้นได้เสมอไป การที่ส่งออกจะดีหรือไม่ดี เป็นผลจากอุปสงค์ในตลาดโลกเป็นหลักมากกว่าเรื่องของค่าเงิน การที่เงินบาทอ่อนนั้น อาจมีข้อดีในแง่ที่ผู้ส่งออกจะได้ประโยชน์จากการแปลงเงินดอลลาร์กลับมาเป็นเงินบาทได้มากขึ้น ซึ่งเป็นเพียงการเพิ่มสภาพคล่องในระยะสั้น แต่ศักยภาพการแข่งขันด้านการผลิต ถือเป็นเรื่องสำคัญมากกว่า
ซึ่งในทางกลับกัน เงินบาทที่อ่อนค่าจะนำมาซึ่งต้นทุนการนำเข้าสินค้าสูงขึ้น เช่น ราคาน้ำมัน และสุดท้ายแล้ว ก็จะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนสินค้า
"เคยมีข้อมูลว่า ในช่วงที่บาทอ่อนค่ามาก การส่งออกก็ไม่ได้ไปกับบาทที่อ่อน แต่เป็นเรื่องของอุปสงค์ในตลาดโลกที่มีผลมากกว่า การที่บาทอ่อน อาจไม่ได้ช่วยเรื่องการส่งออกได้มากนัก...หากบาทอ่อนค่า จะทำให้ต้นทุนการนำเข้าน้ำมันมีราคาแพงขึ้น ซึ่งน้ำมันถือเป็นต้นทุนการผลิตและการขนส่งที่สำคัญในภาคการผลิตอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งสุดท้ายแล้วจะมีผลกระทบกับความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนสินค้า และอาจเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ หากยอมให้เงินเฟ้อในประเทศอยู่ในระดับสูงมาก ประชาชนจะได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเพิ่มขึ้น ดังนั้น เงินบาทอ่อน อาจจะไม่ได้ช่วยเรื่องการส่งออกสินค้าได้อย่างแท้จริง ต้องปรับที่ core ของปัญหาจริง ๆ มากกว่า" นางปราณี กล่าว
นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวถึงสถานการณ์เงินเฟ้อของไทยว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) มีแนวโน้มทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในระดับที่มากกว่า 1% โดยทั้งปีนี้คาดว่าเงินเฟ้อจะเฉลี่ยอยู่ที่ 0.6% ส่วนปี 2568 อยู่ที่ 1.3% และอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลาง อยู่ในระดับที่สอดคล้องกับเป้าหมาย
พร้อมมองว่า กรอบเงินเฟ้อที่ 1.3% ช่วยยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ในช่วงปี 2565 ประเทศไทยประสบกับภาวะเงินเฟ้อสูง แต่เงินเฟ้อของไทยก็สามารถปรับลดลงได้เร็วเมื่อเทียบกับต่างประเทศ
ด้านภาวะการเงิน และเสถียภาพระบบการเงินนั้น พบว่า กลไกสินเชื่อในภาพรวมทำงานได้ปกติ สินเชื่อธุรกิจโดยรวมขยายตัวได้ ขณะที่สนเชื่อภาคครัวเรือนขยายตัวชะลอลง ส่วนกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ (Debt deleveraging) ยังดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่คุณภาพสินเชื่ออาจด้อยลงบ้างตามที่เคยประเมินไว้ ทั้งนี้ ยังต้องติดตามคุณภาพสินเชื่อของครัวเรือนที่มีรายได้น้อย และธุรกิจ SMEs ในบางกลุ่ม
นายสุรัช กล่าวว่า การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเงินในภาพรวม จะต้องมีการผสมผสานเครื่องมืออย่างเหมาะสม ซึ่งจะทำให้ช่วยแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด อีกทั้งช่วยลดการพึ่งพาเครื่องมือใดเครื่องมือหนึ่งมากเกินไป จนอาจสร้างผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ พร้อมย้ำว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับปัจจุบันที่ 2.50% มีความสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อ รวมทั้งยังเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจในระยะยาว
ทั้งนี้ กลยุทธ์ในการดำเนินนโยบายการเงินนั้น จะต้องดูแลให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างยั่งยืน เงินเฟ้อปานกลางอยู่ในกรอบเป้าหมาย ลดการสะสมความเสี่ยงในระบบการเงิน รวมทั้งสามารถรองรับความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจจะกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นด้านบวกหรือด้านลบ เช่น การใช้จ่ายภาครัฐ, นโยบายเศรษฐกิจ-การเงินของประเทศหลัก และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ เป็นต้น
ส่วนกรณีที่มีข้อเสนอเรื่องการปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อให้สูงขึ้นจากระดับปัจจุบันที่ 1-3% เพื่อให้มี room มากขึ้นในการทำนโยบายการเงินนั้น นายสุรัช ให้ความเห็นว่า เรื่องเงินเฟ้อเป็นเรื่องที่ต้องระวัง ที่ผ่านมา ระดับราคาสินค้าได้เพิ่มขึ้นมากแล้วตั้งแต่หลังโควิด การจะปล่อยให้เงินเฟ้อต่อปีสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ จะเป็นการทำลาย Disposable income ของครัวเรือน เพราะปัจจุบันเศรษฐกิจไทย มีทั้งกลุ่มเปราะบาง มีทั้งภาคธุรกิจ ถ้าต้นทุนสูงขึ้น จะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่ smooth เท่าที่ควร ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องพึงระวังในระยะยาว
"นโยบายการเงินของไทย มีความตั้งใจจะรักษาเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย ซึ่งที่ผ่านมา กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อนี้ทำหน้าที่ได้ดี หากเราไป trigger ก็จะทำให้หลุดลอยไปจาก regime ของเราที่ดีอยู่แล้ว และเงินเฟ้อในปัจจุบันก็มีแนวโน้มที่จะเข้าเป้ากรอบเป้าหมายอยู่แล้ว dynamic ของเงินเฟ้อระยะสั้นไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะมีช็อคต่าง ๆ เข้ามาได้ แต่สิ่งสำคัญ คือ การคาดการณ์เงินเฟ้อระยะปานกลางของเรายังอยู่ในเกณฑ์ดี กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ยังทำหน้าที่ได้ดี" นายสุรัช กล่าว