PwC ระบุว่า กลุ่มธุรกิจที่มีการเปิดรับการใช้ AI มากขึ้นกำลังประสบกับการเติบโตของผลิตภาพแรงงานที่สูงขึ้นเกือบห้าเท่า (4.8 เท่า) ตามรายงาน Global AI Jobs Barometer ประจำปี 2567 ของ PwC
ทั้งนี้ รายงานได้วิเคราะห์โฆษณารับสมัครงานมากกว่าห้าร้อยล้านรายการจาก 15 ประเทศ แสดงให้เห็นว่า เทคโนโลยี AI อาจทำให้หลายประเทศหลุดพ้นจากการเติบโตของผลผลิตที่ต่ำอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ ค่าจ้างที่สูงขึ้นและมาตรฐานการครองชีพที่ดีขึ้น
รายงานของ PwC ยังระบุด้วยว่า ทุกประกาศรับสมัครงานที่ต้องใช้ทักษะผู้เชี่ยวชาญด้าน AI 1 (เช่น การเรียนรู้ของเครื่อง) ในปี 2555 ขณะนี้มีประกาศรับสมัครงานเจ็ดตำแหน่ง ขณะที่การเติบโตของงานที่ต้องใช้ทักษะ AI ได้แซงหน้างานทั้งหมดตั้งแต่ปี 2559 โดยตำแหน่งงานที่ต้องการทักษะ AI เพิ่มขึ้นเร็วกว่างานทั้งหมดถึง 3.5 เท่า
นอกจากนี้ รายงานยังเน้นย้ำถึงโอกาสทางเศรษฐกิจสำหรับกำลังแรงงาน โดยงานที่ต้องใช้ทักษะ AI มีส่วนต่างค่าจ้างสูงถึง 25% ในบางตลาด
ทักษะที่นายจ้างต้องการกำลังเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นมากในอาชีพที่เปิดรับ AI มากขึ้น โดยทักษะเก่าหายไปและทักษะใหม่ ๆ ปรากฏขึ้นในโฆษณางานในอัตราที่สูงกว่าอาชีพที่เปิดรับ AI น้อยกว่าถึง 25% แรงงานจึงจำเป็นต้องสาธิตหรือเรียนรู้ทักษะใหม่เพื่อรักษาความสำคัญในสายอาชีพของตนเอง
ขณะที่คำถามเกี่ยวกับผลกระทบของเทคโนโลยีที่มีต่อความมั่นคงของงานไปจนถึงความอยู่รอดทางธุรกิจในระยะยาวนั้นยังคงมีอ ยู่มากมาย ผลจากรายงานฉบับนี้เน้นย้ำถึงข่าวดี แม้แต่พนักงานในกลุ่มธุรกิจที่มีการเปิดรับ AI มากที่สุด นอกจากนี้ ผลจากรายงานยังสะท้อนถึงข่าวดีสำหรับแรงงานและเศรษฐกิจโลก ซึ่งแรงงานที่สามารถทำงานร่วมกับ AI จะมีประสิทธิผลและมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น รวมถึงสร้างโอกาสใหม่ ๆ ในการเจริญก้าวหน้าทั้งสำหรับบุคลากรและประเทศ เช่นเดียวกับการปฏิวัติทางเทคโนโลยีในอดีตจากไฟฟ้าสู่คอมพิวเตอร์ โดย AI กำลังพลิกโฉมวิธีทำงานของแรงงานให้สามารถปรับตัวเพื่อรับโอกาสใหม่ ๆ
นาง แครอล สตับบิงส์ หัวหน้า Global Markets และสายงานภาษีและกฎหมาย PwC ประเทศสหราชอาณาจักร กล่าวว่า AI กำลังเปลี่ยนตลาดแรงงานทั่วโลก และนำข่าวดีมาสู่เศรษฐกิจโลกที่กำลังเผชิญกับความท้าทายและความกังวลเกี่ยวกับความสามารถในการดำเนินธุรกิจในระยะยาวสำหรับหลาย ๆ ประเทศที่ประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานและการเติบโตของผลิตภาพต่ำ ข้อมูลจากรายงานนี้ เน้นย้ำถึงการมองโลกในแง่ดีเกี่ยวกับ AI ด้วยเทคโนโลยีที่แสดงถึงโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจ การสร้างงานและการสร้างอุตสาหกรรมใหม่โดยสิ้นเชิง อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า พนักงานจะต้องสร้างทักษะใหม่ ๆ และองค์กรต่าง ๆ จะต้องลงทุนในกลยุทธ์ AI และบุคลากร หากต้องการเร่งการพัฒนาและให้แน่ใจว่าพวกเขาจะเหมาะสมกับยุค AI
ผลผลิตเพิ่มขึ้นเกือบห้าเท่าในภาคส่วนที่เปิดรับการใช้งาน AI มากขึ้น โดยรายงานฉบับนี้ ยังแสดงให้เห็นภาพเชิงบวกของผลกระทบของ AI ที่มีต่อตลาดแรงงานและประสิทธิภาพการทำงาน โดยกลุ่มธุรกิจที่เปิดรับการใช้งาน AI มากที่สุด ได้แก่ บริการทางการเงิน เทคโนโลยีสารสนเทศ และบริการระดับมืออาชีพ ซึ่งปัจจุบันมีการเติบโตของผลิตภาพแรงงานสูงกว่ากลุ่มธุรกิจอื่น ๆ ที่เปิดรับการใช้ AI น้อยกว่าเกือบห้าเท่า
งานที่ต้องใช้ทักษะ AI ได้รับส่วนต่างค่าจ้างสูง ทั้งนี้ ในตลาดแรงงานหลักทั้งห้าประเทศซึ่งมีข้อมูลค่าจ้าง (ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร แคนาดา ออสเตรเลีย และสิงคโปร์) รายงานพบว่า งานที่ต้องใช้ทักษะผู้เชี่ยวชาญด้าน AI จะได้รับส่วนต่างค่าจ้างสูง (หรือสูงถึง 25% โดยเฉลี่ยในสหรัฐอเมริกา) สะท้อนถึงคุณค่าของทักษะเหล่านี้ที่มีต่อบริษัทในอุตสาหกรรมต่าง ๆ (เช่น ในสหรัฐอเมริกา) ซึ่งอาจมีตั้งแต่อาชีพนักบัญชี (18%) นักวิเคราะห์ทางการเงิน (33%) ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาด (43%) ไปจนถึงนักกฎหมาย (49%) แม้ว่าส่วนต่างค่าจ้างจะแตกต่างกันไปตามตลาด แต่ส่วนใหญ่จะสูงกว่าในทุกตลาดที่วิเคราะห์
การเข้าถึงการใช้งาน AI กำลังเร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะในภาคส่วนงานด้านความรู้ ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับงานด้านความรู้มีการเติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดในส่วนแบ่งของงานที่ต้องใช้ทักษะด้าน AI ซึ่งรวมถึงบริการทางการเงิน (ส่วนแบ่งงานที่ต้องใช้ทักษะ AI สูงกว่า 2.8 เท่า เทียบกับภาคส่วนอื่น ๆ) บริการแบบมืออาชีพ (สูงกว่าสามเท่า) และข้อมูลและการสื่อสาร (สูงกว่าห้าเท่า)
การสร้างและพัฒนาทักษะมีความจำเป็น เพราะตลาดแรงงานไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป บริษัท แรงงาน และผู้กำหนดนโยบาย ต่างมีความรับผิดชอบในการช่วยให้แรงงานสร้างทักษะเพื่อประสบความสำเร็จในตลาดงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทักษะที่นายจ้างต้องการในอาชีพที่ใช้ AI มากขึ้นกำลังเปลี่ยนแปลงในอัตราที่สูงกว่า 25% เมื่อเทียบกับอาชีพที่ใช้ AI น้อย ขณะที่ซีอีโอ 69% ยังคาดหวังว่า AI จะต้องอาศัยทักษะใหม่ ๆ จากพนักงาน โดยตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นเป็น 87% ของซีอีโอที่ได้นำ AI ไปใช้แล้ว ตามการสำรวจ ซีอีโอทั่วโลกประจำปี 2567 ครั้งที่ 27 ของ PwC
ด้านนาย พีท บราวน์ หัวหน้ากำลังแรงงานระดับโลก PwC ประเทศสหราชอาณาจักร กล่าวเสริมว่า "ธุรกิจและรัฐบาลทั่วโลกจะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าพวกเขาได้ลงทุนอย่างพอเพียงในทักษะที่จำเป็นสำหรับบุคลากรและองค์กรของตน หากต้องการเติบโตในเศรษฐกิจโลกและตลาดแรงงานที่กำลังเปลี่ยนแปลงด้วย AI ในขณะเดียวกันยังมีโอกาสมหาศาลสำหรับผู้คน องค์กร และเศรษฐกิจที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีใหม่และเกิดใหม่ เช่น AI ซึ่งแนวทางการสรรหาบุคลากรที่เน้นทักษะเป็นอันดับแรก รวมถึงการลงทุนอย่างต่อเนื่องในการยกระดับทักษะแรงงานถือเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากไม่มีอุตสาหกรรมหรือตลาดใดที่จะรอดพ้นจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและเศรษฐกิจของ AI ได้"
นาย สกอตต์ ลิเกนส์ หัวหน้า AI และนวัตกรรมเทคโนโลยีระดับโลก PwC ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า "AI ให้มากกว่าประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพ โดยยังนำเสนอวิธีการใหม่ ๆ ในการสร้างมูลค่าด้วย ซึ่งในการทำงานกับลูกค้าเราเห็นบริษัทที่ใช้ AI เพื่อเพิ่มคุณค่าที่บุคลากรของพวกเขาสามารถมอบให้ได้ ทั้งนี้ เรามีนักพัฒนาซอฟต์แวร์ แพทย์ หรือนักวิทยาศาสตร์ไม่เพียงพอที่จะสร้างโค้ด บริการสุขภาพ และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมดตามที่โลกต้องการ ซึ่งหากเราสามารถปรับปรุงความสามารถในการส่งมอบสิ่งเหล่านั้นได้ก็จะมีโอกาสที่ไร้ขีดจำกัดสำหรับองค์กรและบุคคลที่ลงทุนในการเรียนรู้และประยุกต์ใช้เทคโนโลยี"
สำหรับมุมมองของประเทศไทยนั้น นางสาวภิรตา ภักดีสัตยพงศ์ หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา PwC ประเทศไทย กล่าวว่า AI กำลังเปลี่ยนแปลงตลาดแรงงานไทยอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น ความสามารถในการพัฒนาทักษะจะเป็นสิ่งที่กำหนดความสำเร็จของพนักงาน ซึ่งทักษะสำคัญที่ต้องเร่งพัฒนามีตั้งแต่ทักษะที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี ทักษะทางด้านอารมณ์ (soft skills) รวมถึงทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลและการทำงานร่วมกับผู้อื่น เป็นต้น
"ปัจจุบันงานที่ต้องใช้ทักษะ AI ในไทยกำลังเป็นที่ต้องการและหายากในตลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ นี่จึงสาเหตุที่ค่าตอบแทนของงานประเภทนี้สูงกว่างานไอทีและวิศวกรถึงราว 25% ถึง 40%" นางสาวภิรตา กล่าว
นอกจากนี้ ในยุคที่พนักงานสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ ยังส่งผลให้แรงงานไทยที่เป็นผู้พัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับ AI บางส่วนเลือกที่จะทำงานในประเทศเพื่อนบ้านซึ่งให้ค่าตอบแทนสูงกว่าประเทศไทย
"องค์กรไทยต้องวางแผนเรื่องการใช้งาน AI อย่างจริงจัง โดยนำกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จมาเป็นตัวอย่าง และอาจเริ่มจากการนำ AI มาช่วยในงานที่ทำซ้ำ ๆ จนทำให้พนักงานได้เห็นว่า AI นั้นเข้ามาช่วยพวกเขาและไม่ได้มาแย่งงาน แถมยังเป็นการเพิ่มทักษะการใช้งานไปในตัวด้วย นอกจากนี้ นายจ้างควรต้องทำแผนบริหารความเปลี่ยนแปลงและสื่อสารให้พนักงานทราบว่า AI นั้นเข้ามาสนับสนุนการทำงานของพวกเขาอย่างไร และไม่ลืมที่จะวางแผนการใช้งานและวัดความสำเร็จจากการใช้งานอยู่เป็นระยะ ๆ ควบคู่ไปกับมีกรอบการใช้งาน AI อย่างมีความรับผิดชอบเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย"
กลุ่มธุรกิจที่นำ AI ไปปรับใช้ควรต้องมีการจัดฝึกอบรมการพัฒนาทักษะของแรงงาน รวมทั้งส่งเสริมให้สถาบันการศึกษาสร้างบัณฑิตที่สามารถขับเคลื่อนองค์กรไปสู่การทำงานร่วมกับเทคโนโลยีให้ทันกับความต้องการของตลาดงานมากขึ้น