กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยจำนวนนิติบุคคลที่ต้องนำส่งงบการเงินในปี 2567 มีอยู่ทั้งหมด 835,011 ราย นำส่งงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจนถึงวันที่ 27 มิถุนายน 2567 แล้วจำนวน 660,586 ราย ยังไม่ได้นำส่งอยู่อีก 174,425 ราย คิดเป็น 21% ของนิติบุคคลทั้งหมดที่ต้องนำส่ง หากไม่นำส่งหรือนำส่งล่าช้าจะมีค่าปรับ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในปี 2567 มีนิติบุคคลที่ต้องนำส่งงบการเงินอยู่ทั้งหมดจำนวน 835,011 ราย แบ่งเป็น นิติบุคคลที่มีรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 จำนวน 671,823 ราย หรือ คิดเป็น 80% ของนิติบุคคลทั้งหมดที่ต้องนำส่งงบการเงิน และอีก 20% หรือจำนวน 163,188 ราย จะเป็นนิติบุคคลที่มีรอบปีบัญชีแตกต่างกันออกไป
ตามข้อมูล ณ วันที่ 27 มิถุนายน 2567 มีนิติบุคคลที่ได้นำส่งงบการเงินให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าแล้วทั้งสิ้นจำนวน 660,586 ราย คิดเป็น 79% ของนิติบุคคลทั้งหมดที่ต้องนำส่งในปีนี้ เนื่องจากงบการเงินเป็นการสรุปผลการดำเนินงานตลอดทั้งปีของภาคธุรกิจ และมีผู้ที่เกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสียต่อการดำเนินงานของกิจการ ทั้งกรรมการ ผู้ถือหุ้น ลูกค้า คู่ค้า นักลงทุน ที่ต้องการทราบความคืบหน้า ความเป็นไปของการดำเนินงานจากธุรกิจ ซึ่งบุคคลเหล่านี้มีผลต่อการบริหารกิจการเป็นอย่างมาก หากไม่นำส่งหรือเพิกเฉยต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปี กรมฯ มีสิทธิ์ยื่นถอนทะเบียนร้างและขีดชื่อธุรกิจออกจากฐานข้อมูล นิติบุคคล ซึ่งจะไม่สามารถดำเนินกิจการภายใต้ชื่อนั้นๆ ได้อีก
"นิติบุคคลที่มีรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ต้องนำส่งงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 มีอยู่ทั้งหมด 671,823 ราย แต่นำส่งเข้ามาเพียง 581,856 ราย ยังขาดอยู่อีก 89,967 ราย หรือประมาณ 13.39% ซึ่งมีความผิดตามกฎหมายแล้ว โดยกรมฯ จะส่งหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาทุกราย และอัตราค่าปรับจะเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่ล่าช้าออกไป
ในส่วนของนิติบุคคลอีก 20% ที่เหลือหรือจำนวน 163,188 ราย ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่มีรอบปีบัญชีแตกต่างกันออกไป แต่ก็ต้องนำส่งงบการเงินตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดเช่นเดียวกัน คือ สำหรับห้างหุ้นส่วนต้องนำส่งงบการเงินภายใน 5 เดือนนับแต่วันปิดรอบบัญชี สำหรับบริษัทจำกัด และบริษัทมหาชนจำกัด ต้องนำงบการเงินเสนอต่อผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติในที่ประชุมใหญ่สามัญภายใน 4 เดือนนับแต่วันปิดรอบปีบัญชี โดยบริษัทจำกัดต้องนำส่งบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5) ภายใน 14 วัน นับแต่วันที่จัดประชุมใหญ่ ส่วนบริษัทมหาชนจำกัดจะต้องนำส่งบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บมจ.006) ภายใน 1 เดือนนับแต่วันเสร็จการประชุม หลังจากนั้นทั้งบริษัทจำกัด และบริษัทมหาชนจำกัด จะต้องนำส่งงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่งบการเงินได้รับอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น สำหรับสมาคมการค้าและหอการค้ามีหน้าที่นำงบดุลเสนอเพื่ออนุมัติต่อที่ประชุมใหญ่ภายใน 120 วัน และต้องนำส่งงบดุลนั้นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าภายใน 30 วัน"
นางอรมน กล่าวต่อว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ขอความร่วมมือให้นิติบุคคลนำส่งงบการเงินผ่านระบบ DBD e-Filing ซึ่งจะช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถใช้ประโยชน์จากงบการเงินที่กรมฯ เผยแพร่ได้อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันภาครัฐสามารถนำข้อมูลที่เป็นปัจจุบันไปประเมินทิศทางและวิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจ เพื่อส่งเสริม สนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศได้ทันที ซึ่งจะเห็นได้ว่าในอดีตงบการเงินที่ยื่นในรูปแบบเอกสารนั้น กว่าจะนำไปวิเคราะห์หรือประมวลผลจะใช้เวลานาน ทำให้เสียโอกาสในทางธุรกิจและที่สำคัญช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและงบประมาณในการบริหารจัดการเอกสาร ทั้งด้านสถานที่จัดเก็บ และการดูแลรักษา รวมทั้งยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการ ลดปริมาณการใช้กระดาษ และช่วยรักษาทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย หวังเป็นอย่างยิ่งว่าระบบ DBD e-Filing จะเป็นหัวใจสำคัญที่ขับเคลื่อนและสนับสนุนภาคธุรกิจไทยให้ก้าวสู่การค้าในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างเป็นรูปธรรม