นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง มอบนโยบายให้ผู้บริหารกระทรวงการคลังในระดับจังหวัด โดยเฉพาะกรมที่เกี่ยวข้องกับจัดเก็บรายได้ว่า ในปีงบประมาณ 2567 นี้ ถือเป็นปีที่มีความท้าทาย เนื่องจากกระบวนการงบประมาณที่ล่าช้ากว่าปกติ ทำให้ในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 67 (ต.ค.66 - มี.ค.67) ขาดแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ
ดังนั้น ในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณนี้ จึงได้มอบนโยบายให้เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ งบลงทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ เพื่อให้มีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจได้มากที่สุด เพราะสิ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ แม้งบประมาณจะมาช้า แต่ต้องพยายามผลักให้ลงพื้นที่ให้ได้มากที่สุด
ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์การจัดเก็บรายได้ ล่าสุด 8 เดือนแรกของปีงบ 67 (ต.ค.66-พ.ค.67) ยังต่ำกว่าเป้าประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท ดังนั้นจึงขอให้หน่วยงานไปติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ และงบลงทุน ซึ่งหลายหลักเกณฑ์นั้น กรมบัญชีกลางได้ผ่อนปรนไปแล้ว เช่น โครงการจัดซื้อจัดจ้าง แม้จะมีผู้เสนอราคามาเพียงรายเดียว แต่ถ้าเข้าหลักเกณฑ์ทุกอย่าง เอกสารครบถ้วน ก็ให้เดินหน้าโครงการต่อได้ ไม่จำเป็นต้องยกเลิก
"2 ไตรมาสแรก ไม่มีเงินงบประมาณลงมาเลย ตัว G เบามาก ดังนั้นการขับเคลื่อนในไตรมาสสุดท้าย ก็คืองบประมาณที่จะลงไป โดยเฉพาะงบลงทุนที่หลายโครงการได้ทำ TOR กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างไปเรียบร้อยแล้ว รอแค่อนุมัติตัวเงินมา ก็เซ็นสัญญาได้เลย นี่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายของปีงบ 67" นายลวรณ กล่าว
พร้อมมั่นใจว่า แม้ช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 67 รายได้จะยังต่ำกว่าเป้า 26,000 ล้านบาท แต่เชื่อว่ามีโอกาสจะปิด gap นี้ได้ ซึ่งกลไกของกระทรวงการคลังในระดับจังหวัด เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้การจัดเก็บรายได้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 2.78 ล้านล้านบาทได้
"8 เดือน ยังติดลบประมาณ 26,000 ล้านบาท ได้พูดคุยและคิดว่า gap นี้ มีโอกาสจะปิดได้ ในพื้นที่ก็เป็นกลไกหนึ่ง อาจไม่ใหญ่ แต่ต้องช่วยกันทุกพื้นที่ ต้องเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ เพราะคงทำอะไรได้ไม่มากไปกว่านี้ ดึงคนที่อยู่นอกระบบให้เข้ามาเสียภาษี...3 เดือนสุดท้าย ยังมีความตื่นเต้นท้าทาย เพราะเราออกตัวช้า ก็ต้องเร่งทั้งการเบิกจ่าย และการจัดเก็บ แต่คิดว่าทำได้ ขอให้รอดูเดือน 9 เดือน 10 อีกที" นายลวรณ กล่าว
ทั้งนี้ มั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะยังขยายตัวได้ตามประมาณการตัวเลขที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดการณ์ไว้ในปีนี้ที่ 2.4% ซึ่งหากมีนโยบายใด ๆ ที่เข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีนี้ ก็จะช่วยเพิ่มการเติบโตของ GDP ให้มากขึ้นจากฐานที่มีอยู่ได้