ครม. รับทราบผลศึกษายกเลิกร้าน Duty Free ขาเข้า หวังต่างชาติเพิ่มยอดใช้จ่ายในไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 2, 2024 14:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ครม. รับทราบผลศึกษายกเลิกร้าน Duty Free ขาเข้า หวังต่างชาติเพิ่มยอดใช้จ่ายในไทย

นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) มีมติรับทราบแนวทางการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ ดังนี้

1. แนวทางการหยุดการดำเนินการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรด้านคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขาย สำหรับร้านค้าปลอดอากรขาเข้า (ร้าน Duty Free ขาเข้า) ของผู้ประกอบการ

2. ผลประโยชน์ และผลกระทบ ของการหยุดการดำเนินการร้าน Duty Free ขาเข้า ที่กระทรวงการคลังได้ศึกษาไว้ในเบื้องต้น

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะติดตามและประเมินผลของการหยุดการดำเนินการร้าน Duty Free ขาเข้า อย่างใกล้ชิดต่อไป

นางรัดเกล้า กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ครม.เมื่อวันที่ 28 พ.ย.66 เห็นชอบในหลักการการดำเนินมาตรการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย (มาตรการฯ) และมอบหมายให้มีการดำเนินการศึกษารายละเอียด ทั้งผลประโยชน์ และผลกระทบ ในมิติของเศรษฐกิจ การคลัง และสังคม รวมทั้งข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ซึ่งรวมถึงการพิจารณาความเหมาะสมในการยกเลิกการอนุญาตให้จัดตั้งร้าน Duty Free ขาเข้า รวมถึงการยกเว้นอากรของที่ซื้อจากร้าน Duty Free สำหรับผู้โดยสารขาเข้า เพื่อส่งเสริมการบริโภคและการใช้สินค้าภายในประเทศ โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลัง ไปพิจารณาความเหมาะสมในการดำเนินมาตรการดังกล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ได้ศึกษาผลประโยชน์และผลกระทบของการหยุดดำเนินการร้าน Duty Free ขาเข้า โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. ผลต่อการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ: นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยในประเทศมากขึ้น และมีการกระจายการใช้จ่าย และการบริโภคสินค้าและบริการภายในประเทศอย่างกว้างขวาง โดยหากมีการหยุดการดำเนินการจำหน่ายสินค้าในร้านค้าปลอดอากรขาเข้า 1 ปี คาดว่าจะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวต่อคนต่อทริปเพิ่มขึ้นประมาณ 570 บาท

2. ผลต่อการใช้จ่ายของผู้เดินทางชาวไทย: ผู้เดินทางชาวไทย อาจจะเลือกใช้จ่ายซื้อสินค้าปลอดอากรจากประเทศต้นทาง เพื่อทดแทนหรือใช้จ่ายซื้อสินค้าประเภทเดียวกันในประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยขึ้นกับปัจจัยในการตัดสินใจที่แตกต่างกัน

3. ผลต่อผู้ประกอบการภายในประเทศ: ผู้ประกอบการร้าน Duty Free จะสูญเสียรายได้อากรขาเข้าส่วนของการจำหน่ายสินค้าในร้าน Duty Free ขาเข้า อย่างไรก็ดี หากมีการหยุดการดำเนินการจำหน่ายสินค้าในร้าน Duty Free ขาเข้าเป็นระยะเวลา 1 ปี คาดว่าจะส่งผลให้ผู้ประกอบการร้านค้าและผู้เกี่ยวข้องในภาคการท่องเที่ยว ตลอดจนร้านค้าทั่วไป เสมือนได้รับเม็ดเงินหมุนเวียนใหม่เพิ่มเติมสูงสุด 3,460 ล้านบาทต่อปี เป็นการสร้างโอกาส และส่งผลเชิงบวกต่อการผลิต การลงทุน และการจ้างงานได้ต่อไป

4. ผลต่อรายได้ของภาครัฐ: เม็ดเงินหมุนเวียนมีการกระจายสู่ผู้ประกอบการร้านค้าในวงกว้างเพิ่มมากขึ้น และส่งผลให้เกิดการขยายฐานการจัดเก็บภาษีของภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม

5. ผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวม: กรณีที่มีการหยุดดำเนินการร้าน Duty Free ขาเข้าเป็นระยะเวลา 1 ปี คาดว่าจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ขยายตัวได้เพิ่มขึ้น 0.012% ต่อปี

ปัจจุบันมีนิติบุคคล 3 ราย ที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งร้าน Duty Free ขาเข้า ที่ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ผู้โดยสารขาเข้า ของท่าอากาศยานนานาชาติ 8 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ 1) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 2) ท่าอากาศยานดอนเมือง 3) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ 4) ท่าอากาศยานภูเก็ต 5) ท่าอากาศยานหาดใหญ่ 6) ท่าอากาศยานอู่ตะเภา 7) ท่าอากาศยานสมุย และ 8) ท่าอากาศยานกระบี่

โดยจากสถิติของกรมศุลกากรในปี 2566 มียอดจำหน่ายสินค้าปลอดอากรในร้าน Duty Free ขาเข้า รวมทั้งสิ้น 3,021.75 ล้านบาท

นางรัดเกล้า ระบุว่า ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรทั้ง 3 ราย ได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมศุลกากรโดยยินดีที่จะหยุดการดำเนินการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรด้านคลังสินค้าทัณฑ์บนเพื่อขายสำหรับร้าน Duty Free ขาเข้า ตามนโยบายของรัฐบาล จนกว่ารัฐบาลจะมีการยกเลิกนโยบายดังกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ