ธนาคารโลก (World Bank) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 67 เหลือโต 2.4% จากที่เคยประมาณการไว้เดิมเมื่อเดือนเม.ย. ที่ 2.8% โดยมีสาเหตุหลักมาจากการส่งออก และการลงทุนภาครัฐในช่วงต้นปีที่น้อยกว่าคาดการณ์ อย่างไรก็ดี ยังไม่รวมผลของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท แต่คาดว่าอาจช่วยเพิ่มการเติบโตในระยะสั้นต่อไปได้
ทั้งนี้ การบริโภคภาคเอกชน และการท่องเที่ยวจะเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก แต่อัตราการเติบโตจะชะลอตัวลง โดยจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้นเป็น 36.1 ล้านคนในปีนี้ และคาดการณ์ว่าการท่องเที่ยวจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิดได้ในกลางปี 68 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน
ขณะที่ในปี 68 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 2.8% (จากเดิมคาดโต 3%) จากอุปสงค์ที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้น โดยในปี 68 คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาไทยรวมทั้งสิ้น 41.1 ล้านคน
อย่างไรก็ดี แม้ว่าหนี้สาธารณะของไทย จะยังคงอยู่ในระดับเสถียรภาพ แต่รัฐบาลต้องเผชิญกับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้น จากค่าใช้จ่ายในด้านสวัสดิการสังคม และการลงทุนภาครัฐ เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุ
นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) กล่าวว่า ธนาคารโลกได้ปรับคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ลดลงเหลือ 2.4% จากคาดการณ์เดิมที่ 2.8% โดยเป็นการฟื้นตัวค่อนข้างช้า ภายใต้ความท้าทายใน 3 เรื่องหลัก ดังนี้
1. การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลต่อภาคการค้า ภาคบริการ และภาคการท่องเที่ยวของไทย
โดยมองว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2567 และปี 2568 รวมถึงปีต่อไป ยังมีแนวโน้มการเติบโตที่ชะลอตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะจากมาตรการกีดกันทางการค้า และความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวได้ส่งผลถึงการค้า และการส่งออกของไทยค่อนข้างมาก แต่ภาพรวมเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้นบ้าง สะท้อนจากตัวเลขคำสั่งซื้อในไตรมาส 1/2567 ที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งส่งผลถึงภาคการส่งออกของไทยที่เริ่มฟื้นตัว และผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว
"ตัวเลขเศรษฐกิจในช่วง 7 ไตรมาสที่ผ่านมา GDP เติบโตได้ค่อนข้างต่ำ คือน้อยกว่า 2% ซึ่งเวิลด์แบงก์มองว่าเป็นภาวะ Down Cycle ที่หลัก ๆ มาจากภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว แต่ยังไม่ไปสู่ระดับเดิม รวมถึงการลงทุนที่ไม่ได้โตมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนภาครัฐที่เข้ามาช้า เนื่องจากความล่าช้าของงบประมาณปี 2567 ดังนั้นจึงเห็นว่าตั้งแต่ช่วงโควิด-19 เศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวได้ช้าสุด แม้ว่าหลายประเทศรวมถึงไทยจะเผชิญปัจจัยเสี่ยงด้านเศรษฐกิจโลกเหมือนกัน แต่เพราะไทยเป็นประเทศเปิดที่พึ่งพาการส่งออก ขณะที่การท่องเที่ยว ก็มีสัดส่วนสูงเมื่อเทียบกับตัวเลขจีดีพี ทำให้ตรงนี้เป็นความท้าทายของเศรษฐกิจไทยในเชิงโครงสร้าง" นายเกียรติพงศ์ กล่าว
ส่วนเรื่องของอัตราเงินเฟ้อ ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แม้ว่าปัจจุบัน ดุลบัญชีเดินสะพัดจะกลับมาเป็นบวก แต่ก็ยังมีความเปราะบาง เพราะการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ โดยคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้เต็มที่ในช่วงต้นปี 2568 จึงเป็นเรื่องท้าทายสำหรับ ธปท. ที่จะต้องดูแลเรื่องอัตราเงินเฟ้อ และการเติบโตของเศรษฐกิจ รวมถึงยังมีปัจจัยกดดันจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่ยังไม่มีความแน่นอน
"โครงการนี้ (ดิจิทัลวอลเล็ต) มีผลกับอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งอาจจะทำให้เป็นประเด็นที่ยากในการดำเนินนโยบายการเงิน ดังนั้น ภายใต้ปัจจัยท้าทายดังกล่าว จึงมองว่า ธปท. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไปอีกระยะ" นายเกียรติพงศ์ ระบุ
พร้อมมองว่า เรื่องเสภียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศนั้น อยากให้ดูเรื่องเงินเฟ้อเป็นหลัก โดยเงินเฟ้อไทยถือเป็นจุดเด่นของอาเซียน ที่ตอนนี้กลับมาฟื้นตัวเป็นบวก จากที่เคยติดลบอย่างมากในช่วงปีก่อนหน้า แต่ก็ยังเป็นอัตราที่ต่ำสุดในอาเซียน ดังนั้นในภาพรวมเวิลด์แบงก์ยังมองว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายของ ธปท.ได้ และเป็นสัญญาณที่ดี แต่ก็ยังมีความเปราะบางจากราคาพลังงาน แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลจะยกเลิกนโยบายอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งส่งผลให้เงินเฟ้อกลับมาเป็นบวก แต่ก็ยังมีการอุดหนุนราคาพลังงานด้านอื่น ๆ ซึ่งมีโอกาสที่จะทำให้เงินเฟ้อกลับมาเป็นลบได้
2. ความท้าทายเรื่องภาคการคลัง
โดยต้องยอมรับว่า การลงทุนเป็นเครื่องมือสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่ในช่วงหลังโควิด-19 การลงทุนของไทยติดลบมาก เช่นเดียวกับประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งแม้ไทยจะมีการปรับตัวค่อนข้างมาก แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากความล่าช้าถึง 7 เดือนในการใช้งบประมาณปี 2567 ส่วนหนี้สาธารณะตั้งแต่ช่วงหลังโควิด-19 คงตัวอยู่ที่ระดับ 64% ของจีดีพี หลังจากที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงโควิด-19 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแรงกดดันจากรายจ่ายเพื่อดูแลสังคม แต่ภาพรวมก็ยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ 70% ของจีดีพี แต่ยอมรับว่าทิศทางของหนี้สาธารณะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เป็นประเด็นที่น่าห่วง และต้องจับตา
3. ความท้าทายเรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะปานกลาง
เวิลด์แบงก์มองว่า หากประเทศไทยมีการลงทุนเพิ่มขึ้น และมีโอกาสในการพัฒนาศักยภาพผ่านการเพิ่มคุณภาพทางการศึกษา สาธารณสุข และเพิ่มศักยภาพแรงงาน ซึ่งจะส่งผลให้แรงงานย้ายเข้าไปสู่งานที่มีมูลค่าเพิ่มและมีรายได้ดีขึ้นนั้น จะเป็นประเด็นสำคัญที่ช่วยยกระดับการเติบโตระยะปานกลางให้เพิ่มขึ้นอีก 1% จากระดับคาดการณ์ในปัจจุบันที่ 2.7%
ขณะเดียวกัน นโยบายการคลังจะต้องตอบโจทย์สังคมสูงอายุให้มีประสิทธิภาพ แต่ยังมีพื้นที่ทางการคลังเพียงพอจะรักษาเสถียรภาพไม่ให้หนี้สาธารณะสูงเกินไป โดยสิ่งที่ต้องทำคือ การมุ่งเน้นการทำนโยบายการคลังแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย เช่น กลุ่มคนยากจน กลุ่มผู้สูงอายุ โดยมองว่าหากทำนโยบายที่กว้าง จะส่งผลเสียต่อหนี้สาธารณะของประเทศ
"ภาพเศรษฐกิจในระยะสั้นของไทยนั้น เรายังมองว่า มีความจำเป็นจะต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ต้องเป็นมาตรการที่มีผลต่อเศรษฐกิจในระยะยาวด้วย รวมถึงต้องพิจารณาเรื่องพื้นที่ทางการคลังว่ามาตรการดังกล่าวส่งผลดี-ผลเสียอย่างไร เช่น โครงการดิจิทัลวอลเล็ต การตรึงราคาพลังงาน การใช้งบประมาณเพื่อดูแลผู้สูงอายุ และการลงทุนภาครัฐ ซึ่งเราอยากเห็นการใช้งบประมาณที่คุ้มค่า ส่งเสริมการเติบโตในระยะสั้นและระยะยาว ดังนั้นจึงควรเป็นมาตรการที่เป็นบวก พุ่งเป้าไปที่การใช้งบประมาณเพื่อดูแลผู้สูงอายุแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย และการลงทุนของภาครัฐเป็นหลัก" นายเกียรติพงศ์ กล่าว