"เผ่าภูมิ" เร่งอัดมาตรการกระตุ้นศก. ระหว่างรอดิจิทัลวอลเล็ต มั่นใจดัน GDP ปีนี้โตได้ 3%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 3, 2024 11:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง มั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะขยายตัวได้ที่ 3% แม้ล่าสุด ธนาคารโลกจะคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ ขยายตัวได้ 2.4% ทั้งนี้ รัฐบาลได้เตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยเฉพาะด้านภาษี และในสัปดาห์หน้า กระทรวงการคลังจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) วงเงิน 100,000 ล้านบาท ของธนาคารออมสิน รวมถึงการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ โดยปัจจัยดังกล่าวทำให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ตามเป้าหมาย

อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยยังมีปัญหา ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการ คือการกระจายเม็ดเงินลงสู่ประชาชนให้เร็วที่สุด ผ่านการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ ขณะเดียวกัน กระทรวงการคลังได้พยายามออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายเรื่อง ทั้งมาตรการด้านภาษี มาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยวเมืองรอง ซึ่งถือเป็นมาตรการใหญ่ รวมถึงมาตรการสินเชื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS11 ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กที่มีความเสี่ยงสูง และยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อ สามารถมีช่องทางเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้

"มาตรการต่าง ๆ เหล่านี้ จะเป็นแรงช่วยโอบอุ้มเศรษฐกิจในช่วงที่โครงการดิจิทัลวอลเล็ตยังไม่ลงสู่ระบบ และหากจะเกิดขึ้นในปีนี้ ก็เชื่อว่าจะมีผลต่อจีดีพีน้อยมาก หรือเห็นผลในช่วงสั้น ๆ เท่านั้น โดยส่วนใหญ่ ผลของมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต จะชัดเจนในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 ดังนั้นจึงมองว่าระหว่างนี้ เศรษฐกิจไทยจำเป็นจะต้องมีมาตรการอื่น ๆ เพื่อเพิ่มเติมในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เพราะหากรอดิจิทัลวอลเล็ตเพียงอย่างเดียวคงไม่พอ" นายเผ่าภูมิ กล่าว

รมช.คลัง ยังกล่าวถึงแผนการออกพันธบัตรของรัฐบาลว่า เป็นหน้าที่ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ที่จะพิจารณาความเหมาะสมของอัตราดอกเบี้ย โดยยืนยันว่าไม่มีความกังวลเรื่องการปรับแผนบริหารหนี้ที่เพิ่มขึ้น เพราะหากพูดถึงหนี้สาธารณะของไทยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 63% ต่อจีดีพีนั้น ได้นับรวมหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลไม่ได้ค้ำประกันไว้ด้วยแล้ว แต่หากพิจารณาในรายละเอียดที่แท้จริง จะพบว่าหนี้สาธารณะของไทยยังอยู่ที่ระดับ 57% ของจีดีพีเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นระดับต่ำมาก

นายเผ่าภูมิ กล่าวอีกว่า ในส่วนแผนการคลังระยะปานกลาง ที่จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะปรับสูงขึ้นนั้น ตามคาดการณ์การขาดดุลงบประมาณ ยืนยันว่าไม่ได้น่าเป็นห่วง เนื่องจากแผนการคลังระยะปานกลางดังกล่าว ยังไม่ได้รวมถึงตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ดังนั้นหากจีดีพีเพิ่มสูงขึ้น ก็จะทำให้หนี้สาธารณะลดลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ